เฟซบุ๊กแบนผู้นำกองทัพเมียนมา
เฟซบุ๊กแบนบัญชีผู้ใช้งานของ 20 องค์กรและบุคคลในเมียนมา ซึ่งรวมถึงบรรดาผู้นำกองทัพเมียนมา ไม่ให้สามารถเข้าถึงบริการของเฟซบุ๊กได้ และยอมรับว่า บริษัทช้าเกินไปในการป้องกันไม่ให้มีข้อความเกลียดชังและข้อมูลเท็จแพร่กระจายในประเทศเมียนมา
ยักษ์ใหญ่โซเชียลเน็ตเวิร์กรายนี้ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ว่า ได้มีการแบนเกิดขึ้นหลังจากรายงานของสหประชาชาติพบหลักฐานว่าบุคคลและองค์กรเหล่านี้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในเมียนมา
นับเป็นครั้งแรกที่กองทัพ หรือเจ้าหน้าที่รัฐถูกแบนจากเฟซบุ๊ก โฆษกเฟซบุ๊กแถลง
โดยบริษัทระบุว่า บุคคล หรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์มแล้ว และจะมีการเฝ้าจับตาไม่ให้พวกเขาเข้ามามีตัวตนในเฟซบุ๊กได้อีก
“เราต้องการป้องกันพวกเขาไม่ให้เข้ามาใช้บริการของเราเพื่อสร้างความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และทางศาสนาได้อีก”
โดยเฟซบุ๊กระบุว่า คำสั่งแบนนี้จะมีผลกับนายพลมินอ่องลาย ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา รวมถึงโครงข่ายสถานีโทรทัศน์ของกองทัพด้วย
รายงานจากการสอบสวนอิสระของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ส.ค.เรียกร้องให้มีการสอบสวนและยื่นฟ้องบรรดาผู้นำกองทัพเมียนมาในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเป็นอาชญากรสงคราม โดยในรายงานได้ระบุถึงการฆาตกรรม กักขัง และความรุนแรงทางเพศที่มีต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมาจำนวนมาก
ทั้งนี้ กองทัพเมียนมายืนกรานปฏิเสธว่า ไม่มีการทำร้ายชาวโรฮิงญาที่ไม่มีอาวุธ การปราบปรามเกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเสียชีวิตก่อน
ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติชี้ว่าเฟซบุ๊กเป็นแหล่งข้อมูลเท็จและข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือในการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยในเมียนมา รายงานการสืบสวนของสื่อรอยเตอร์ที่ตีพิมพ์เมื่อช่วงต้นเดือนส.ค.นี้พบว่า เฟซบุ๊กล้มเหลวและไม่สามารถกำจัดข้อความที่สร้างความเกลียดชังกับชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยได้
โดยทางเฟซบุ๊กต้องต่อสู้ดิ้นรนนานหลายเดือนเพื่อรับมือกับคำถามเกี่ยวกับชนิดของคอนเทนต์ที่อนุญาตให้ปรากฎบนเว็บไซต์ของบริษัทและแพลตฟอร์มอื่นๆ
ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรายนี้ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับข่าวลวง ก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ ขณะที่ในอินเดีย มีม็อบศาลเตี้ยนับสิบในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ที่เชื่อมโยงกับข้อความเท็จที่แพร่กระจายบนแพลตฟอร์ม WhatsApp
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. เฟซบุ๊กปกป้องการดำเนินการในเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้งานเฟซบุ๊กเป็นแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลแรก
“ความรุนแรงทางชาติพันธุ์ในเมียนมาเป็นเรื่องที่น่าตกใจจริงๆ” เฟซบุ๊กระบุ “ขณะที่เราช้าเกินไปที่ในการรับมือกับเรื่องนี้ แต่ตอนนี้เรากำลังทำให้ก้าวหน้า ด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิมเพื่อพิสูจน์ตัวตนของข้อความที่สร้างความเกลียดชัง ปรับปรุงเครื่องมือในการรีพอร์ท และจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นเพื่อตรวจสอบพิจารณาคอนเทนต์”
นอกจากการห้ามใช้งานแล้ว เฟซบุ๊กระบุว่า ได้ลบ 48 เพจ และ 12 บัญชีที่มีความเกี่ยวข้องกับการให้ความร่วมมือกับพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ
โดยเฟซบุ๊กชี้ว่า เพจซึ่งอ้างว่าเป็นเพจอิสระ ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งสารจากกองทัพเมียนมา.