โรฮิงญาประท้วงเมียนมาครบรอบปีปราบโหด
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานับหมื่นคนชุมนุมประท้วงครบรอบปีของการปราบปรามครั้งรุนแรงจากกองทัพเมียนมาที่มีต่อชาวโรฮิงญา เนื่องจากพวกทหารถือว่าพวกตนมีอำนาจเหนือชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม
โดยกลุ่มผู้ประท้วงในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในบังคลาเทศต้องการเรียกร้องความยุติธรรม และถือป้ายที่มีข้อความว่า “ไม่มีอีกแล้ว”
ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาเริ่มปฏิบัติการปราบปรามกับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ หลังจากกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาบุกโจมตีป้อมตำรวจในรัฐยะไข่ ทางเหนือของเมียนมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ปี 2560 และทำให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศกว่า 700,000 คน
องค์การสหประชาชาติบรรยายการปราบปรามของกองทัพในรัฐยะไข่ว่า ‘หนังสือตัวอย่างของการกวาดล้างเผ่าพันธุ์’ และผู้ลี้ภัยซึ่งต้องหลบหนีความรุนแรงได้บอกเล่าเรื่องราวที่สะเทือนขวัญของความรุนแรงทางเพศและการทำร้ายทารุณกับสื่อ
อ้างอิงจากข้อมูลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ระบุว่า มีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 6,700 รายที่ถูกสังหารในเดือนแรกของเหตุการณ์ความรุนแรงในปีที่แล้ว โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีอย่างน้อย 730 ราย ขณะที่รัฐบาลเมียนมาระบุว่า ทหารเมียนมากำลังต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา และเสริมว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ตั้งเป้าที่จะโจมตีชาวโรฮิงญาทั่วไป
“ ทหารกองทัพเมียนมาข่มขืนและฆ่าผู้หญิงของเรา ทำลายทรัพย์สินเรา พวกเขาต้องถูกลงโทษ เราต้องการความยุติธรรม” Rakib Hossain กล่าวเรียกร้องกับสื่อ BBC เบงกาลี
Ashiya Begum ซึ่งสามีของเธอถูกฆ่าในเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ มองว่าชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยในบังคลาเทศนั้น ‘ทุกข์ยากลำเค็ญ’
“ เราทนอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว โปรดให้เรากลับบ้าน ” เธอกล่าว
มีพิธีกรรมทางศาสนาในกลุ่มชาวโรฮิงญา โดยอิหม่ามร้องขอพระเจ้าว่า “ขอให้พวกเราได้ถูกส่งคืนกลับบ้านเกิดของเรา เพื่อให้พวกเราได้เฝ้ามองหลุมศพของพ่อแม่ของเรา”
ผู้บัญชาการตำรวจในท้องที่กล่าวกับสื่อ AFP ว่า มีจำนวนผู้ลี้ภัยประมาณ 40,000 คนที่เข้าร่วมในการประท้วงครั้งนี้
รัฐบาลเมียนมาได้ทำข้อตกลงกับบังคลาเทศที่จะส่งคืนชาวโรฮิงญากลับเมียนมา แต่ผู้นำชาวโรฮิงญาระบุว่าพวกเขาจะไม่กลับไปจนกว่าจะมีการรับประกันความปลอดภัยให้กับพวกเขา
อองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมา ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2534 ต้องเผชิญกับคำตำหนิและความไม่พอใจจากนานาชาติจากการที่เธอไม่ประณามการกระทำที่ทารุณโหดร้ายของกองทัพในรัฐยะไข่ และออกมาปกป้องชาวโรฮิงญาตามหลักสิทธิมนุษยชน
โดยเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่พลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ปฏิเสธที่จะยอมรับและให้สถานะพลเมืองกับชาวมุสลิมโรฮิงญาในช่วงเวลาที่ผ่านมา
สื่อ CNN รายงานว่า ผู้หญิงชาวโรฮิงญาต้องทนทุกข์ทรมานกับเหตุการณ์ความรุนแรงในปีที่แล้ว หลายคนให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ทหารเมียนมาบุกเข้ามาในบ้านของพวกเธอ ข่มขืนและทำร้ายเธอ ฆ่าลูกของพวกเธอ หลายคนตั้งครรภ์ขณะอพยพหนีไปบังคลาเทศโดยไม่กล้าบอกใคร
หลายคนตัดสินใจทำแท้งเถื่อนด้วยการซื้อยาตามร้าน ขณะที่หลายคนคลอดลูกที่เกิดจากการถูกข่มขืนและเลี้ยงดูด้วยความสะเทือนใจ.