เศรษฐกิจไร้ทิศทาง ทำเมียนมาสมองไหล
เศรษฐกิจที่ขาดการปฏิรูป ไร้ทิศทางและยุทธศาสตร์จากผู้นำเมียนมาสะท้อนให้เห็นได้จากภาวะสมองไหลของคนหนุ่มสาวมากความสามารถ
U Myint นักเศรษฐศาสตร์และอดีตหัวหน้าที่ปรึกษาประธานาธิบดี กล่าวในระหว่างการนำเสนอรายงานของธนาคารโลก คือ Myanma Economic Monitor เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา
ประเด็นสำคัญในรายงานของปีนี้ย้ำถึงการขาดแคลนแรงงานมีทักษะของประเทศ “ เหตุผลหนึ่งในประเด็นนี้คือภาวะสมองไหลที่ยังดำเนินอยู่ เด็กที่เป็นหัวกะทิของสังคมเมียนมา ซึ่งผ่านการฝึกอบรมด้านบริการสาธารณะและธุรกิจ รวมทั้งอาจารย์และสถาบันผู้เชี่ยวชาญซึ่งส่วนใหญ่จะไปพักอาศัยและทำงานอยู่ในต่างประเทศ ” เขากล่าว
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประเมินว่า ในปี 2559 มีชาวเมียนมาประมาณ 4.25 ล้านคนที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ โดยเหตุผลสำคัญในการอพยพย้ายถิ่นฐานคือโอกาสงานที่ดีกว่าและค่าจ้างที่สูงกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน
โดยเหตุผลอื่นคือ คนที่มีอายุมากกว่าและอยู่ในระดับชั้นนำแบบเราขาดความเชื่อมั่นและความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจ U Myint กล่าว
เขาเสริมว่า หนทางที่จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นของทิศทางเศรษฐกิจว่าจะไปในทิศทางใด และกระบวนการกำลังเป็นไปโดยความร่วมมือกับธนาคารโลกเพื่อสร้างสรรค์รายงานอย่าง Myanmar Economic Monitor ให้มากขึ้น
ด้วยมุมมองที่ชัดเจนกว่าและข้อมูลที่มีมากขึ้น จะทำให้บรรดาผู้นำมีการตัดสินใจที่ดีขึ้นและมีข้อมูลเพื่อนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้า
“ นี่จะทำให้เราไม่เพียงนำคนหนุ่มสาวและคนที่มีความสามารถกลับประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถนำแรงงานไร้ทักษะและกึ่งมีทักษะสัญชาติเมียนมากลับมาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับพวกเขาและครอบครัวของพวกเขา ” U Myint กล่าว
อ้างอิงจาก Myanmar Economic Monitor ซึ่งเป็นรายงานราย 2 ปี แนวโน้มเศรษฐกิจของเมียนมาเป็นที่น่าพอใจ โดยคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตอยู่ที่ 6.8% ในปี 2561- 2562 จากตัวเลขการเติบโตเดิมคือ 6.4%
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากวิกฤตความรุนแรงในรัฐยะไข่ ส่งผลให้การใช้จ่ายในภาคท่องเที่ยวอ่อนแรงลง รวมถึงความต้องการในบริการที่เกี่ยวข้องอย่างการโรงแรมและการขนส่งคมนาคมขณะเดียวกัน ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในเมียนมา รวมถึงการรับรู้ถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจที่อ่อนแรงอาจส่งผลต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศต้องการเงินทุนเพื่อช่วยหนุนดุลบัญชีเดินสะพัด
การลงทุนที่ลดลงอาจส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในภาคการผลิตและภาคเกษตรกรรม ซึ่งทั้งสองภาคส่วนเป็นปัจจัยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตในปีงบประมาณก่อน ขณะเดียวกัน ภาคส่วนอื่นของเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเช่นกัน จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในระหว่างการนำเสนอรายงาน สิ่งที่เมียนมาขาดคือการเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศที่ดีขึ้น รวมทั้งความช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการ SME
ดร. Zeya Nyunt ซีอีโอของธนาคารพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางชี้ว่า ธนาคารหลายแห่งไม่สามารถให้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่ไม่มีเครดิตเพียงพอ และไม่มีประวัติการกู้ยืม
ผู้ร่วมอภิปรายคนหนึ่งคือ U Zaw Hlaing กรรมการผู้จัดการของ Unique Network Marketing เสนอแนะให้มีการให้ความรู้แก่ผู้ขอกู้ยืมเงินและ SME เพื่อปรับปรุงคะแนนเครดิตและทำธุรกิจได้ดีขึ้น.