อินโดฯ ขู่ปิดเฟซบุ๊ก
รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลขอขู่จะปิดเฟซบุ๊กหากมีหลักฐานว่า มีการนำข้อมูลส่วนตัวของพลเมืองไปหาประโยชน์ หรือบริษัทไม่สามารถกำจัดข่าวลวงได้ในระหว่างการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น
จากวิกฤตข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านบัญชีรั่วไหลไปอยู่ในมือของบริษัทที่ทำงานให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2559 ยิ่งทำให้เกิดความกลัวขึ้นในอินโดนีเซียว่า อาจมีการทุจริตในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ในอนาคต
เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นายรูเดียนทารา รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารจึงออกโรงแสดงความกังวลว่าอาจมีบุคคล หรือกลุ่มจัดตั้งใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเพื่อให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนไป
“หากผมต้องชัทดาวน์เฟซบุ๊ก ผมก็จะทำ” เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่บ้านพักของเขาในกรุงจาการ์ตา โดยชี้ว่าก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียก็เคยบล็อก Telegram ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันฝากข้อความมาแล้ว
“ผมเคยทำมาแล้ว ผมไม่ลังเลเลยที่จะทำอีกครั้ง”
คำเตือนของเขายังแผ่ขยายจากเฟซบุ๊กไปถึงแพลตฟอร์มอื่น รวมทั้งทวิตเตอร์และกูเกิล ซึ่งเป็นเจ้าของยูทูบด้วย โดยก่อนหน้านี้ทั้งทวิตเตอร์และกูเกิลตกลงที่จะทำงานกับทางรัฐบาลเพื่อเฝ้าระวังจับตาดูคอนเทนต์ที่อันตราย
ทั้งนี้ ทางเฟซบุ๊กและกูเกิลปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ คำเตือนของรัฐมนตรีมีขึ้นในช่วงที่อินโดนีเซียมีการปราบปรามการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแพร่กระจายข่าวลวงและความเกลียดชัง โดยทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ได้เผยแผนที่จะรับมือกับข่าวลวงไปในเดือนที่แล้ว
รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารกล่าวว่า เขาได้ติดต่อไปยังผู้บริหารเฟซบุ๊กในอินโดนีเซียเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีข้อมูลของผู้ใช้งานที่ตกไปอยู่ในมือของบริษัทที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่าง Cambridge Analytica โดยทางเฟซบุ๊กจะขานรับคำขอของเขาในสัปดาห์นี้
เนื่องจากไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวตามพระราชกฤษฏีกาปี 2559 ได้ เฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มอื่นๆอาจต้องเจอค่าปรับจำนวนมาก รูเดียนทารา กล่าว “หากมีการแทรกแซงการบริหาร ผมจะออกจดหมายเตือนไปถึงพวกเขา มันจะกลายเป็นการแทรกแซงทางอาญาด้วย” เขากล่าว
โดยคนของเฟซบุ๊กอาจมีโทษจำคุกถึง 12 ปีและมีโทษปรับถึง 12,000 ล้านรูเปียห์ หรือราว 27.5 ล้านบาท
“ผมต้องการให้แน่ใจว่า ไม่มีการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กไปให้ทาง Cambridge Analytica ใช้ประโยชน์ได้ และหากเป็นเช่นนั้น ผมจะตามล่าพวกเขา ให้ตำรวจจัดการ”
ในปัจจุบัน มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากถึง 90 ล้านบัญชีในอินโดนีเซีย
ความเห็นในเรื่องนี้มีขึ้นเนื่องจากประธานาธิบดีโจโค วิโดโด กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ โดยจะเริ่มแคมเปญในเดือนก.ย.นี้ก่อนที่จะมีการลงคะแนนเลือกตั้งรอบแรกในเดือนเม.ย.ปีหน้า
โดยประธานาธิบดีโจโค วิโดโด (หรือที่นิยมเรียกกันว่า โจโควี่) เองเป็นผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดีย และมีผู้ติดตามเขาในทวิตเตอร์เกือบ 10 ล้านคน เขายังเป็นเป้าหมายของการใส่ร้ายป้ายสี โดยมีคนพยายามอ้างว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์
รมว.รูเดียนทาราแสดงความกังวลว่า การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเผยแพร่ข่าวลวงอาจเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้ในช่วงการเลือกตั้งครั้งหน้า เหมือนกับที่รัสเซียทำกับสหรัฐฯในการเลือกตั้งปี 2559 ที่ผ่านมา
“ผมต้องระวังไว้ก่อนว่าข่าวลวงมาจากในประเทศ หรือจากนอกประเทศ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องควบคุมแพลตฟอร์มทั้งหมด”
เนื่องจากมีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแพร่ข่าวลวงและส่งผลต่อการเลือกตั้ง โดยเขายกตัวอย่างถึงข่าวที่โพสต์บนทวิตเตอร์ว่า เขาและประธานาธิบดีโจโคสมคบคิดกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า และเขาปฏิเสธเรื่องนี้
ทั้งนี้ เขาได้ส่งสารที่เรียบง่ายไปถึงเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆว่า “หากคุณไม่สามารถจัดการแพลตฟอร์มของคุณเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพของอินโดนีเซียได้ นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้ต้องการทำธุรกิจในอินโดฯ แต่ทำเพื่อจุดประสงค์อื่น”