ทำข้อตกลงส่งโรฮิงญากลับเมียนมา
บังคลาเทศและเมียนมาทำข้อตกลงร่วมกันที่จะพยายามส่งผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาซึ่งอพยพหนีความรุนแรงในรัฐยะไข่จำนวนหลายแสนคนทยอยกลับเมียนมาให้สำเร็จลุล่วงภายใน 2 ปี อ้างอิงจากถ้อยแถลงของกระทรวงต่างประเทศของบังคลาเทศ
ทางกระทรวงระบุว่า กลุ่มที่ทำงานประสานกันระหว่างทั้งสองประเทศได้ทำข้อตกลงในขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 ม.ค. เพื่อจัดการส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับคืนสู่เมียนมา โดยเห็นพ้องกันในกระบวนการซึ่งจะค่อยๆ ทยอยส่งผู้ลี้ภัยกลับคืนสู่เมียนมาได้ทั้งหมดภายใน 2 ปี
โดยเมียนมาและบังคลาเทศลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับเมียนมาเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว และมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันซึ่งมีสมาชิก 30 คนเพื่อพิจารณาตรวจสอบขั้นตอนในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา หลายคนตั้งคำถามว่า ชาวโรอิงญาจะยอมกลับเมียนมาภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ และเมียนมาจะยอมรับพวกเขาและยอมให้พวกเขาอยู่อย่างมีเสรีภาพหรือไม่
ภายใต้ข้อตกลงในเดือนพ.ย. ชาวโรฮิงญาต้องแสดงหลักฐานการอยู่อาศัยในเมียนมาเพื่อการส่งกลับ แต่เป็นสิ่งที่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากไม่มี
กลุ่มชาติพันธ์ุโรฮิงญากว่า 650,000 คนอพยพหนีความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมาข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2560 หลังจากกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาโจมตีป้อมตำรวจก่อน ทำให้กองทัพเมียนมาเข้าปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงและลุกลามบานปลายมาถึงประชาชนชาวโรฮิงญาด้วย ทำให้สหประชาชาติและสหรัฐฯ เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการล้างเผ่าพันธุ์
“ แม้เราจะพูดคุยกันถึงระยะเวลา 2 ปีของการดำเนินการ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ทางการบังคลาเทศจำเป็นต้องเร่งจัดทำเอกสารให้ผู้ลี้ภัยและส่งให้เราโดยเร็ว ” โฆษกรัฐบาลเมียนมาชี้แจง
ทางการเมียนมามีแผนจะเริ่มกระบวนการส่งคืนชาวโรฮิงญาในวันที่ 23 ม.ค. และมีกลุ่มโรฮิงญาที่เป็นฮินดู 500 คนและมุสลิม 500 คนที่จะอยู่ในกลุ่มแรกที่ถูกส่งกลับ
สื่อของรัฐบาลเมียนมารายงานว่า มีการจัดเตรียมค่ายที่สามารถรองรับชาวโรฮิงญาได้ประมาณ 30,000 คนใน 625 อาคาร และมีอย่างน้อย 100 อาคารที่จะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นค่ายผู้ลี้ภัยค่ายแรกที่สร้างขึ้นในกระบวนการส่งคืนชาวโรฮิงญา
ประชาคมนานาชาติและกลุ่มสิทธิย้ำว่ารัฐบาลเมียนมาต้องรับประกันความปลอดภัยและความสมัครใจในการส่งคืนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และกระตุ้นให้องค์การระหว่างประเทศได้รับอนุญาตให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แถลงเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ว่า ไม่ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วม หรือได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ซึ่งผู้ลี้ภัยจะถูกส่งกลับ
“ UNHCR และหุ้นส่วนของเราต้องการที่จะเข้าถึงพื้นที่รัฐยะไข่โดยด่วน เพื่อเข้ารับทราบสถานการณ์และจัดเตรียมความช่วยเหลือให้กับผู้ที่ต้องการ ” Andrej Mahecic โฆษกของ UNHCR กล่าวในกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์.