สิงคโปร์ขึ้นแท่นเมืองแพงสุด 4 ปีต่อเนื่อง
นับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่สิงคโปร์ขึ้นแท่นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตของชาวต่างชาติ จากการสำรวจที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 พ.ย.จาก Economic Intelligence Unit (EIU)
โดยฮ่องกงตามมาเป็นอันดับ 2 เหนือเมืองซูริกในสวิตเซอร์แลนด์ที่อยู่ในอันดับ 3 ขณะที่เมืองใหญ่ของญี่ปุ่นทั้งโตเกียวและโอซาก้าที่ติดในอันดับสูงเช่นกันหนุนให้เมืองในเอเชียติดอันดับถึงครึ่งหนึ่งของ 10 เมืองที่มีค่าใช้จ่ายแพงที่สุดในโลกจากผลสำรวจประจำปี 2560
ถึงแม้จะเป็นอันดับ 1 แต่ในรายงานระบุว่า หลายประเภทของผลสำรวจ เช่น ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว สินค้าอุปโภคในครัวเรือน และค่าจ้างแม่บ้านหนุนให้สิงคโปร์ยังคงมีราคาถูกกว่าหลายเมืองในเอเชียด้วยกัน ถึงแม้สิงคโปร์จะเป็นเมืองที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อและครอบครองรถยนต์ที่แพงที่สุดในโลกก็ตาม และอยู่ในอันดับ 2 สำหรับราคาเสื้อผ้าที่แพงที่สุด อ้างอิงจากรายงาน
ทั้งนี้ ราคาอาหารและเครื่องดื่มในสิงคโปร์เท่ากับในนครเซี่ยงไฮ้ของจีน ขณะที่โซล โตเกียวและโอซาก้าเป็น 3 เมืองใหญ่ที่มีราคาอาหารหลักแพงที่สุด การจับจ่ายซื้ออาหารสดในโซลมีราคาแพงกว่าในนครนิวยอร์กถึง 50%
โดยนิวยอร์กเป็นเมืองเดียวที่เป็นตัวแทนเมืองจากอเมริกาเหนือ ขณะที่ในยุโรปมี 4 เมืองที่ติดอันดับสูงสุดครั้งนี้ แต่นิวยอร์กตกจากอันดับ 7 ในการสำรวจปีที่แล้วมาอยู่ในอันดับ 9 ในปีนี้จากเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตามค่าครองชีพในเมืองนี้พุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผลการสำรวจเมื่อ 5 ปีก่อนที่นิวยอร์กอยู่ในอันดับที่ 46
“ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง และเงินยูโรมีเสถียรภาพ สกุลเงินอื่นๆ เช่นดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีค่าเงินที่เหมาะสม ส่งผลให้นครซิดนีย์และเมลเบิร์นในออสเตรเลีย เมืองเวลลิงตันและโอ๊คแลนด์ในนิวซีแลนด์ ติดอยู่ใน 20 เมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุด ” อ้างอิงจากรายงาน
ปารีสเป็นเมืองที่อยู่ในยูโรโซนเพียงเมืองเดียวที่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ขณะที่โคเปนเฮเกนในเดนมาร์กซึ่งผูกติดค่าเงินกับเงินยูโรก็ติดเข้ามาใน 10 อันดับแรกเช่นกัน จากราคาการเดินทางและของใช้ส่วนตัวที่มีราคาสูง
“ เมื่อสำรวจเมืองที่มีราคาค่าครองชีพแพงที่สุดจำแนกตามประเภท น่าสนใจว่าเมืองในเอเชียมีแนวโน้มที่จะมีราคาสถานที่แพงที่สุดสำหรับการช้อปสินค้าอาหารทั่วไป ขณะที่เมืองในยุโรปมีราคาแพงในประเภทสันทนาการและบันเทิง ”
ทั้งนี้ การจัดทำผลสำรวจค่าครองชีพทั่วโลกช่วยให้บริษัทสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานที่ถูกส่งไปทำงานในต่างประเทศและสามารถเปรียบเทียบราคาจากสินค้าและบริการจาก 160 ประเทศทั่วโลก ทั้งราคาอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคในครัวเรือนและผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าเทอมโรงเรียนเอกชน ค่าจ้างแม่บ้าน และสันทนาการ.