แรงงานลาวเดินทางกลับบ้านต่อเนื่อง
มีการประเมินว่า แรงงานชาวลาวประมาณ 150,000 คนที่ทำงานในประเทศไทย (ทั้งถูกและผิดกฎหมาย) ยังคงเดินทางกลับบ้านอย่างต่อเนื่อง หลังจากไทยบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดระเบียบการจ้างงานแรงงานอพยพที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง
ในแขวงจำปาสัก แรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะแรงงานที่ลักลอบเข้าไปทำงานที่ไทยอย่างผิดกฎหมาย ได้เดินทางกลับมาบ้านเนื่องจากเกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ไทยต่อแรงงานอพยพ
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายคำไบ บุญหลวง ผู้อำนวยการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ดูแลแขวงจำปาสักกล่าวกับสื่อเวียงจันทน์ไทม์ว่า แรงงานหลายคนเดินทางกลับลาวแต่ไม่ได้แจ้งกับทางการ
เขากล่าวว่า เราจะประสานงานร่วมกับหน่วยงานในเขตเพื่อจดทะเบียนแรงงานลาวที่เดินทางกลับจากไทย เจ้าหน้าที่ของเราจะขึ้นทะเบียนแรงงานกลุ่มที่เดินทางกลับมาลาวอย่างถาวร และกลุ่มที่จะเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศไทยอีกในอนาคตอันใกล้
สำหรับแรงงานที่กำลังจะเดินทางกลับไปที่ไทย ทางการจะช่วยเหลือพวกเขาให้ผ่านกระบวนการจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องกลัวกฎหมายขณะที่ทำงานอยู่ในไทย
โดยนายคำไปกล่าวว่า มีแรงงานลาวประมาณ 3,700 คนที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายในไทยผ่านบริษัทจัดหางาน และมีแรงงานประมาณ 25,000 คนที่เดินทางข้ามพรมแดนไปทำงานที่ไทยอย่างผิดกฎหมาย
นายอนุสอน คำสิงสะหวัด ผู้อำนวยการทั่วไปด้านการพัฒนาทักษะและการจ้างงานของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมให้ข้อมูลว่า มีแรงงานประมาณ 800 คนที่เดินทางกลับลาวด้วยความช่วยเหลือของสถานทูตลาวในกรุงเทพ ทางกระทรวงของเรากำลังทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่เพื่อช่วยเหลือแรงงานให้กลับลาวได้ เราไม่เพียงจะจดทะเบียนการกลับมาของพวกเขา แต่ยังจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพวกเขาให้กลับไปทำงานในไทยผ่าน 19 บริษัทจัดหางานของเรา เขากล่าว
ขณะเดียวกัน นายจ้างไทยต้องการแรงงานลาวไปทำงานในไร่นาและโรงงานของพวกเขา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลของทั้งสองประเทศที่จะจัดการแก้ไขปัญหานี้
ทั้งนี้ ทางการไทยแจ้งว่า ปัจจุบันมีแรงงานลาวทำงานในไทยด้วยบัตรสีชมพู ซึ่งเป็นเอกสารประจำตัวชั่วคราวประมาณ 71,000 คน โดยนายอนุสอนกล่าวว่า ทางการลาวมีแผนจะไปไทยเพื่อพิสูจน์สัญชาติให้แรงงานลาว
ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับแรงงานอพยพจากลาว กัมพูชาและเมียนมา คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนแรงงานอพยพทั้งหมด 1.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ เป็นแรงงานลาวประมาณ 10% แรงงานเมียนมา 60% และกัมพูชา 30%
สำหรับลาว คนจำนวนมากข้ามพรมแดนไปทำงานในไทยด้วยความหวังว่า จะมีรายได้มากกว่าเพื่อช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น.