อินโดห้ามเศรษฐีหุ้นส่วนทรัมป์เดินทาง
ทางการอินโดนีเซียออกคำสั่งห้ามนายฮารี ทาโนโซดิบโจ มหาเศรษฐีและนักการเมืองซึ่งสร้างรีสอร์ทที่บริหารโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากเขาอยู่ระหว่างการสอบสวนในข้อกล่าวหาที่ว่าเขาข่มขู่อัยการผ่านบริการฝากข้อความ
โดยนายทาโนโซดิบโจถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศเป็นเวลา 20 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนอาชญากรรมหน่วยอากุง ซัมปุรโน อ้างอิงจากการรายงานของโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.
มหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซียอยู่ในระหว่างการสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมายสารสนเทศและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซัมปุรโนกล่าว
MNC Group ของมหาเศรษฐีทาโนโซดิบโจซึ่งดำเนินธุรกิจหลากหลายตั้งแต่ด้านสื่อไปจนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีชื่อตกเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาส่งข้อความข่มขู่คุกคามอัยการที่ทำคดี Mobile 8 ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่เคยเป็นของ MNC Group มาก่อน
ยังไม่สามารถติดต่อทนายของเขาได้ในวันที่ 28 มิ.ย. แต่ในคำแถลงก่อนหน้านี้ เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา
“ เนื้อหาใน SMS ของคุณทาโนโซดิบโจเป็นเรื่องทั่วไปและยึดมั่นในหลักการ และไม่ได้คุกคามใคร” ฮอตแมน ปารีส ฮฺูตาปี ทนายความของมหาเศรษฐีกล่าว
ทั้งนี้ ข้อความบางส่วนของเขาระบุว่า “ ถ้าผมเป็นผู้นำประเทศนี้ อินโดนีเซียจะเปลี่ยนไป และชัดเจนว่าจะไม่เป็นอย่างที่เคยเป็น” อ้างอิงจากถ้อยแถลงของทนายความ
มหาเศรษฐีทาโนโซดิบโจได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาจากการรายงานของสื่อ โดยการละเมิดกฎหมายมีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี และปรับสูงสุด 750 ล้านรูเปียห์ ( 56,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ )
นายทาโนโซดิบโจ ซึ่งเป็นผู้สมัครลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งในปี 2557 ได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นในปี 2558 และกล่าวเมื่อเดือนม.ค.ว่า เขาจะตัดสินใจก่อนสิ้นปีหน้าว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2562 หรือไม่
โดยเขาบรรยายชัยชนะในการเลือกตั้งของประธานาธิบดีทรัมป์ว่า เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่มีประสบการณ์ทางการเมืองเพียงน้อยนิด และได้รับเชิญให้เข้าร่วมในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีทรัมป์ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาด้วย
ทั้งนี้ บริษัทของเขากำลังก่อสร้างรีสอร์ทหรูหรา 2 แห่งบนเกาะบาหลีและชวาตะวันตก ซึ่งบริหารจัดการโดยบริษัท Hotel Collection ของประธานาธิบดีทรัมป์
ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนหน้าพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีทรัมป์ เขาไม่สนใจท่าทีกังวลในประเด็นจริยธรรมที่ว่า ธุรกิจในต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์อาจเสี่ยงที่จะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
นอกจากนี้ เขายังได้ให้สัมภาษณ์ในเดือนก.พ.ว่า ความสัมพันธ์ของเขากับผู้นำสหรัฐฯ ที่มุ่งเน้นเรื่องธุรกิจอาจช่วยความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติได้ “ถ้าจำเป็น”.