อินโดได้ดุลการค้าเดือนพ.ค.
การได้ดุลการค้าของอินโดนีเซียในเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้นถึง 23.6% เป็นมูลค่า 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก เดิม 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนเดียวกันของปีก่อน อ้างอิงจากประกาศของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา
โดยการได้ดุลการค้าได้แรงหนุนสำคัญจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 7.62% เป็น 14,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพ.ค.จากเดิม 11,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนเม.ย. แต่การนำเข้าก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่เพิ่มขึ้นเพียง 16.49% เป็น 13,820 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิม 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนเม.ย.
“ ผลประกอบการของการส่งออกในเดือนพ.ค.ดีมาก ต้องขอบคุณทั้งน้ำมันและก๊าซ และโภคภัณฑ์กลุ่มที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซ ” M Sairi Hasbullah ผู้อำนวยการฝ่ายสถิติด้านสังคมของสำนักงานสถิติกลางให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว โดยเสริมว่ายอดการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากการเตรียมงานเทศกาล Idul Fitri
ทั้งนี้ ยอดการส่งออกน้ำมันและก๊าซเพิ่มขึ้น 22.36% เป็น 1,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และยอดส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซเพิ่มขึ้น 6.37% เป็น 13,020 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยยอดส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซที่เพิ่มขึ้นมาจากเครื่องจักร รองลงมาคือเหล็กและเหล็กกล้า และยอดส่งออกที่ลดลงคือ เรือเดินสมุทร อัญมณี และแร่ถ่านหิน
ตัวเลขส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของอินโดนีเซียในปีนี้เพิ่มขึ้น 19.93% มาอยู่ที่ 68,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเติบโตขึ้น 15.71% เป็น 62,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ประเทศต้นทางที่อินโดนีเซียนำเข้าสินค้าเข้ามามากที่สุดยังคงเป็นจีน รองลงมาคือญี่ปุ่น และประเทศไทย
“ มากกว่า 1 ใน 4 ของการนำเข้าสินค้าของประเทศเรามาจากจีน และมากกว่า 10% มาจากญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่าประเทศเราพึ่งพาวัตถุดิบจาก 2 ประเทศนี้ค่อนข้างมาก หากมีบางอย่างเกิดขึ้นกับ 2 ประเทศนี้ เราจำเป็นต้องระวังให้มาก ” Sairi กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้เผยนโยบายทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 15 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่จะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศ
Darmin Nasution รัฐมนตรีช่วยว่าการเศรษฐกิจรายงานว่า นโยบายนี้ต้องเข้าถึงเป้าหมายหลัก คือ การให้ความสำคัญกับการประกันการขนส่งคมนาคม ลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการโลจิสติก สร้างความแข็งแกร่งให้หน่วยงานที่กำกับดูแลระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และลดปริมาณสินค้าต้องห้ามในประเทศ
โดยในความพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการโลจิสติก ทางรัฐบาลตั้งเป้าที่จะขจัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางทะเล ตัวแทนนำเข้าหรือส่งออก ตัวแทนจองพื้นที่ในการขนส่ง การขนถ่ายสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการท่าเรือในปัจจุบัน กิจกรรมทางธุรกิจเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 2,000-500,000 ล้านรูเปียห์ แต่ภายใต้นโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะหมดไป.
หมายเหตุ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 34.16 บาท / 1,000 รูเปียห์ = 2.75 บาท / 20 มิ.ย. 2560