มาเลเซียให้โรฮิงญาทำงานได้
มาเลเซียจะเริ่มโครงการนำร่องในวันที่ 1 มี.ค.นี้ โดยการอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวโรอิงญาทำงานได้อย่างถูกกฎหมายในมาเลเซีย อ้างอิงจากถ้อยแถลงของรองนายกรัฐมนตรีอามัด ซาฮิด ฮามิด เมื่อวันที่ 2 ก.พ.
เป็นคำแถลงหลังจากเขาเป็นประธานในการประชุมระดับสูงกับองค์กร UNHCR ที่ออฟฟิศของเขาในเมืองปุตราจายา รองนายกฯ ซาฮิดกล่าวว่า ข้อเสนอนี้เปิดกว้างสำหรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ถือบัตรของ UNHCR และผ่านการตรวจสอบด้านสุขภาพและความปลอดภัยด้านความมั่นคงแล้ว
โดยผู้สมัครเข้าร่วมโครงการที่มีคุณสมบัติเพียงพอจะได้ทำงานให้กับบริษัทในโรงงานและอุตสาหกรรมการผลิต
รองนายกฯ ซาฮิดกล่าวว่า “ พวกเขาจะได้มีทักษะผีมือและรายได้เพื่อหาเลี้ยงชีพก่อนที่จะถูกส่งไปประเทศที่ 3 ” ตัวของเขาเองซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยด้วยกล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหา
การค้ามนุษย์และป้องกันไม่ให้ชาวโรฮิงญาต้องกลายเป็นแรงงานทาสและทำงานอย่างผิดกฎหมายในมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยนูร์ จาซลันให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชียเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า โครงการนำร่องนี้อาจไม่ได้รับการขานรับที่ดี เนื่องจากมีชาวโรฮิงญาที่แสดงความสนใจจะสมัครเข้าร่วมโครงการเพียง 120 คนเท่านั้น
“ ชาวโรฮิงญาต้องการอยู่ในชุมชนของเขา พวกเขาต้องการเป็นผู้ประกอบการและทำธุรกิจเล็กๆ ในชุมชนพวกเขาไม่ต่้องการทำงานในระบบโรงงาน ” เขากล่าว
จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.ปีที่แล้ว มีผู้ถือบัตรของ UNHCR ประมาณ 150,000 คนจาก 62 ประเทศในมาเลเซียเกือบ 90% เป็นชาวโรฮิงญา 56,000 คนจากเมียนมา โดยคนที่ไม่มีเอกสารมีจำนวนหลายพันคน อ้างอิงจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน Tenaganita
น.ส.กรอรีน เฟอร์นันเดซ ผู้อำนวยการบริหารของ Tenaganita กล่าวยกย่องความเคลื่อนไหวของรัฐบาลที่ริเริ่มโครงการนี้ แต่ให้ความเห็นว่า ไม่ควรจำกัดเฉพาะชาวโรฮิงญาเท่านั้น
“ เราไม่ควรแบ่งแยกผู้ลี้ภัยจากชาติอื่น โครงการนี้ควรเปิดกว้างสำหรับผู้ลี้ภัยทุกคน ” เธอกล่าว
ทั้งนี้ มาเลเซียไม่ได้ลงนามในสัญญากับสหประชาชาติในเรื่องผู้ลี้ภัย แต่ให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ เมื่อผู้ลี้ภัยลงทะเบียนกับ UNHCR แล้ว จะได้รับอนุญาตให้อยู่ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะทำงาน หรือได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์และการศึกษา.