โคฟี่ อันนันเยือนรัฐยะไข่ของเมียนมา
นายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาตินำทีมลงพื้นที่รัฐยะไข่ของเมียนมาในวันที่ 2 ธ.ค.เพื่อสังเกตการณ์ความรุนแรงที่มีต่อชาวโรฮิงจาที่เป็นมุสลิมชนกลุ่มน้อย
หลังจากถูกกองทัพปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 86 รายและทำให้มีผู้อพยพไปบังคลาเทศถึง 10,000 คน
โดยนายอันนัน จะใช้เวลา 1 วันในเมืองซิตตเว เมืองหลวงของรัฐยะไข่ก่อนที่จะเดินทางขึ้นไปทางเหนือในบริเวณที่ถูกปิดล้อม ตั้งแต่ทางกองทัพมีการกวาดล้างครั้งใหญ่หลังจากมีกลุ่มติดอาวุธเข้าโจมตีพื้นที่แนวพรมแดนเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา
นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการหนึ่งชุดที่ประกอบด้วยสมาชิก 9 คนขึ้นมาก่อนที่จะมีการสู้รบกัน โดยมุ่งหวังที่จะให้เป็นที่ปรึกษาในรัฐยะไข่ที่มีความแตกแยกระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงจา หลังเคยมีการปะทะครั้งรุนแรงในปี 2555 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า100 คน
ทั้งนี้ เหตุรุนแรงล่าสุดเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของรัฐบาลเมียนมาที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้เพียง 8 เดือนและก่อให้เกิดเสียงวิพาษ์วิจารณ์จากนานาชาติถึงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพที่นางซูจีได้รับว่าไม่สามารถช่วยสถานการณ์ชาวโรฮิงจาให้ดีขึ้นได้
คณะกรรมาธิการชาวเมียนมา 6 คนและชาวต่างชาติอีก 3 คนรวมนายโคฟี่ อันนันได้รับการต้อนรับที่สนามบินโดยมุขมนตรีของรัฐยะไข่และผู้ประท้วงประมาณ 100 คน โดยคณะทำงานชุดนี้เคยมาเยือนเมียนมาครั้งหนึ่งแล้วในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา
ผู้ประท้วงถือป้ายที่มีข้อความว่า “ ไม่เอาทีมโคฟี่ อันนัน” และตะโกนว่า “ เราไม่ต้องการคณะของโคฟี่อันนัน ” โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สวมเสื้อเกราะกันกระสุนพร้อมปืนไรเฟิลยืนควบคุมความเรียบร้อยอยู่
“ รัฐยะไข่เป็นเรื่องในประเทศ เราไม่ยอมรับการแทรกแซงจากคนนอก ” เกษตรกรคนหนึ่งที่มาร่วมชุมนุมประท้วงกล่าว “ เราไม่ต้องการให้ชาวต่างชาติมายุ่งเรื่องของเรา นี่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลรับมือกับปัญหานี้ไม่ถูกจุด ”
กองทัพและรัฐบาลเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาจากชาวบ้านและองค์กรสิทธิมนุษยชนว่ามีทหารข่มขืนสตรีชาวโรฮิงจา เผาทำลายบ้านเรือนและสังหารชาวโรฮิงจาในช่วงการปราบปรามครั้งนี้
องค์การสหประชาชาติรายงานว่า จนถึงสัปดาห์นี้ มีชาวมุสลิมโรฮิงจามากกว่า 10,000 คนแล้วที่อพยพหนีจากการปราบปรามในรัฐยะไข่ไปบังคลาเทศ
โดยนางอองซาน ซูจีไม่ได้มีท่าทีใดๆ ต่อเรื่องนี้ เธอปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการที่จะสอบสวนสถานการณ์ที่รุนแรงและกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทางกองทัพ.