อินโดฯ เพิ่มโทษผู้ก่อคดีข่มขืนให้ประหารชีวิตและทำหมัน
ผู้นำอินโดนีเซียออกกฤษฎีกาเพิ่มโทษผู้ก่อคดีข่มขืนเด็ก โดยให้ลงโทษประหารชีวิตผู้ข่มขืนเด็กเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส และทำหมันผู้ก่อคดีข่มขืนเด็กซ้ำซ้อน หวังป้องกันการก่อคดีข่มขืนใครได้อีก
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย แถลงหลังลงนามในกฤษฎีกาเมื่อ 26 พ.ค.59 ระบุบทลงโทษใหม่มีเป้าหมายหวังหยุดวิกฤติอันเกิดจากความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก ซึ่งถือเป็นคดีอาญาร้ายแรง และภัยคุกคามต่อเด็ก โดยเพิ่มโทษให้หนักขึ้น
นอกจากนั้นกฤษฎีกายังกำหนดให้เจ้าหน้าที่ติดกำไลข้อมืออิเล็กทรอนิกส์คอยติดตามสอดส่องพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของผู้ก่อคดีข่มขืนเด็กหลังพ้นโทษจากเรือนจำ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยบำบัดเยียวยาสภาพจิตใจของเหยื่อทางเพศและครอบครัวของด้วย ทั้งนี้กฤษฎีกาให้มีผลบังคับใช้ทันทีหลังการลงนาม
ความเคลื่อนไหวออกกฤษฎีกาครั้งนี้มีขึ้นสืบเนื่องจากคดีกลุ่มชายวัยรุ่น 14 คน เมาสุรา รุมข่มขืนฆ่าเด็กสาววัย 14 ปี บนเกาะสุมาตราเมื่อเดือนเม.ย. ศพเหยื่อถูกพบสภาพเปลือยถูกมัดมือมัดเท้าอยู่ในป่า อีกทั้งยังมีคดีข่มขืนฆ่าสาวโรงงานวัย 18 ปี ยิ่งเพิ่มแรงกดดันรัฐบาลให้เพิ่มโทษผู้ก่อคดีข่มขืนหนักขึ้น เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันที่บังคับใช้มาตั้งแต่พ.ศ. 2545 ลงโทษผู้ก่อคดีข่มขืนจำคุกสูงสุดแค่ 14 ปี
การออกกฤษฎีกาเพิ่มโทษผู้ก่อคดีข่มขืน ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และสมาชิกรัฐสภาอินโดนีเซียเสียงส่วนใหญ่ โดยพรรคอิสลาม ในรัฐบาลผสมของอินโดนีเซีย แถลงระบุถึงการตอนหรือทำหมันผู้ก่อคดีข่มขืนเด็กมีเป้าหมายหวังยับยั้งผู้ก่อเหตุไม่ให้ไปก่อคดีข่มขืนใครได้อีก เพราะการตอนหรือทำหมันไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากผู้ก่อเหตุต้องผ่านกระบวนการทางกฏหมาย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มต่อต้านบทลงโทษใหม่นี้ โดยนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวรักร่วมเพศรายหนึ่งชี้ว่า กฤษฎีกานี้เปรียบเสมือน “การแก้แค้น” แค่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลตื่นตัวแก้ปัญหา แต่ไมได้เข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศอย่างแท้จริง ทั้งไม่เชื่อว่าการตอนหรือทำหมันผู้ก่อคดีข่มขืนจะหยุดยั้งการก่อคดีข่มขืนลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น อินโดนีเซียก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมากอยู่แล้วกรณีการประหารชีวิตนักโทษ โดยเฉพาะการประหารชีวิตนักโทษต่างชาติคดียาเสพติดด้วยการยิงเป้าถึง 7 คนเมื่อช่วงปีท่ีแล้ว.