เวียดนามทุ่ม1.7หมื่นล้านแก้น้ำท่วม
เวียดนาม ทุ่ม 1.7 หมื่นล้านบาท แก้ไขปัญหาน้ำท่วมนครโฮจิมินห์ ซิตี้ หรือไซ่ง่อน ในฐานะเมืองเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศที่อยู่ในภาวะเสี่ยงน้ำท่วม
เว็บไซต์ข่าวเวียดนามนิวส์รายงานเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ว่า นครโฮจิมินห์ ซิตี้ หรือชื่อเก่าคือไซ่ง่อนของเวียดนามประกาศจะปั้มงบประมาณ 11.61 ล้านล้านด่อง หรือราว 505 ล้านดอลลาร์ (ราว17,675ล้านบาท) สนับสนุนโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมรวม 84 โครงการ ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีข้างหน้า แผนบริหารจัดการน้ำดังกล่าวได้รับการเปิดเผยในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยสำนักงานป้องกันน้ำท่วมของนครโฮจิมินห์ ซิตี้ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติเอชซีเอ็ม ซิตี้ โดยยังมีนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญสนใจเข้าร่วมด้วยหลายคน เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังที่ชาวเมืองโฮจิมินห์ ซิตี้ เผชิญแทบทุกปีในช่วงหน้าฝน แม้ปัจจุบันหลายส่วนของประเทศเวียดนามยังเผชิญภาวะภัยแล้งจัดในรอบหลายสิบปีก็ตาม
โดยภารกิจสู้น้ำท่วมหลักๆ ที่ต้องดำเนินการแรกเริ่มรวมทั้งการขุดลอกและปรับปรุงคลอง 2 แห่งของนครโฮจิมินห์ ซิตี้ คือคลองธาม เลือง-เบ็น กาตและคลองรัค นุ๊ค เล็น ที่มีความยาวรวมกัน 32 กิโลเมตร คาดว่าจะช่วยการระบายน้ำได้เป็นเนื้อที่ 14,500 เฮกแตร์ ขณะที่ภารกิจสำคัญแรกเริ่มอื่นๆ มีรวมทั้งการขุดลอกลำธารเซียน ทาม ความยาว 8.2 กิโลเมตร และสร้างประตูระบายน้ำขึ้น 8 จุด เพื่อควบคุมกระแสน้ำและเหตุน้ำท่วมรวมทั้งสร้างเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำยาวเกือบ 20 กิโลเมตร ตามแหล่งสุ่มเสี่ยงเกิดน้ำท่วมตามแม่น้ำไซกอนหรือไซ่ง่อนที่เมื่อถึงหน้ามรสุมทุกปี น้ำจากแม่น้ำไซ่ง่อนมักไหล่บ่าเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลาดต่ำของเมืองอยู่เป็นประจำ ส่วนการปรับปรุงท่อระบายน้ำหลัก 4 สายของเมืองรวมทั้งท่อระบายน้ำบ๋า ชินห์ ยังถือเป็นภารกิจสำคัญของโครงการควบคุมปัญหาน้ำท่วมของนครโฮจิมินห์ ซิตี้ ด้วยเช่นกัน
ระหว่างการแถลงข่าว ยังมีนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญนำเสนอแนวทางจัดการปัญหาน้ำท่วมด้วยรวมทั้งการขยายช่องทางน้ำไหลและลำธารทั้งหมดที่มีอยู่ทั่วเมือง เตรียมความพร้อมป้องกันรับมือน้ำท่วมและยังมีแผนที่มีการนำเสนอกันมาช้านานแล้วซึ่งก็คือการจัดทำแผนแม่บทเพื่อก่อสร้างระบบระบายน้ำและอ่างเก็บน้ำรวมทั้งระบบชลประทานเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่ต้องประสานร่วมมือใกล้ชิดกับทางจังหวัดด่อง หน่าย และลอง อาน ที่อยู่ใกล้กันด้วยเพื่อรับประกันว่าโครงการป้องกันน้ำท่วมของนครโฮจิมินห์ ซิตี้ จะได้ผลลัพธ์ตามแผน เพราะโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่เป็นการถมที่ขวางทางน้ำหรือปิดกั้นพื้นที่ไหลของแม่น้ำในสองจังหวัดนี้มีผลต่อปริมาณน้ำของแม่น้ำไซ่ง่อนด้วย.