สิงคโปร์เลี่ยงกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. สิงคโปร์ได้เผยแผนเพิ่มงบประมาณของปี 2559-2560 โดยธนาคารกลางจะยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมเดือนเม.ย.นี้ แม้จะเริ่มมีสัญญาณเตือนว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์เริ่มถดถอยเป็นครั้งแรก
โดยนายเฮง สวี เกียต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวน 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เพิ่มขึ้นถึง 7.3% จากปีที่แล้วและสูงกว่าที่คนส่วนใหญ่คาดการณ์ ทำให้งบประมาณเกินดุลกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ เงินงบประมาณส่วนใหญ่จะมุ่งสนับสนุนธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีรายได้ที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่นภาษีเงินเดือนที่ต้องจ่ายให้แรงงานต่างชาติแต่ละราย จะมีการผ่อนผันให้กับบริษัทที่อุตสาหกรรมกำลังย่ำแย่ เช่น อุตสาหกรรมนอกชายฝั่ง นอกจากนี้ จะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเพิ่มขึ้นด้วย
ในปี 2558 ธนาคารกลางสิงคโปร์ออกนโยบายสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนม.ค. เพื่อตั้งรับกับเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงท่ามกลางราคาน้ำมันตกต่ำและครั้งที่ 2 ในเดือนธ.ค. เพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากแรงต้านในประเทศและนอกประเทศ
นอกเหนือจากงบประมาณ หลายคนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสิงคโปร์จะมีความเคลื่อนไหวในเดือนเม.ย.นี้ เพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีความเสี่ยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสิงคโปร์ติดลบมาตั้งแต่เดือนพ.ย. 2557 และในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางธนาคารคาดการณ์ว่า จีดีพีของสิงคโปร์ในปี 2559 จะเติบโตอยู่ที่ 1.9% ซึ่งจัดว่าต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี
นักวิเคราะห์จากธนาคารเมย์แบงค์ชี้ว่า ช่องว่างผลผลิตหรือผลต่างระหว่างจีดีพีและศักยภาพในการผลิต เป็นปัจจัยที่จะหนุนทัศนคติที่มั่นคงของธนาคารกลาง
โดยธนาคารเมย์แบงค์รายงานว่า จำเป็นต้องมีนโยบายการเงินหรือการกระตุ้นงบประมาณเพื่อถมช่องว่างผลผลิต ซึ่งประเมินว่ายังอยู่ในแดนลบตลอดทั้งปีนี้ หากรัฐบาลได้ทำในส่วนงบประมาณแล้ว ทางธนาคารกลางอาจไม่มีความจำเป็นต้องออกโรงก็ได้
“เราเชื่อว่าอาจเร็วไปสำหรับธนาคารกลางที่จะเพิ่มมาตรการทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นกว่านี้ เราเชื่อว่าธนาคารกลางต้องการเห็นการพัฒนาของเศรษฐกิจโลกเพื่อการขยายตัวในทิศทางที่ดีกว่านี้ ก่อนที่จะตัดสินใจออกมาตรการทางการเงินอื่นๆ”
ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นไปเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตจากที่อยู่เกือบ 0% ในปัจจุบัน สะท้อนถึงคำมั่นของรัฐบาลที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจและปรับแต่งเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน
นายฟรานซิส ตัน นักวิเคราะการเงินจากธนาคารยูโอบีย้ำว่า “ธนาคารกลางมีการรับมือกับความท้าทายระยะสั้นเพียง 15% เท่านั้น แต่ยังมีอีก 85% ที่จะค่อยๆตั้งรับในระยะยาว นี่เป็นความได้เปรียบของรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจกว้างไกลเป็นที่ยอมรับกันมานานตั้งแต่ประกาศอิสรภาพแล้ว”