กัมพูชาจับตาความเสี่ยงธนาคาร และอสังหาฯ
ขณะที่รัฐบาลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวได้ถึง 7% ในสองปีข้างหน้า แต่กลับมีความกังวลในภาคธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มส่งสัญญาณความเสี่ยง
ทั้งนี้ นายวงเซ วิสสธ เลขานุการกระทรวงการคลังให้ความเห็นในการประชุมเศรษฐกิจมหภาคแห่งกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วในภาคการเงินรวมกับอุปทานที่ล้นตลาดในภาคอสังหาริมทรัพย์ก่อให้เกิดความกังวลถึงความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น เขากล่าวว่า
“เรามีความกังวลถึงความเสี่ยงในภาคการเงินและธนาคาร เนื่องจากมูลค่าของการปล่อยสินเชื่อที่สูงมาก โดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง และอสังหาฯ ซึ่งส่งสัญญาณว่าอุปทานกำลังล้นดลาด” นอกจากนี้ เขายังเสริมว่า “ธนาคารกลาง และรัฐบาลกำลังพิจารณาเพื่อชะลอการขยายตัวของหนี้ลง และรัฐจะดำเนินการเข้าไปช่วยในภาคธุรกิจที่อ่อนไหว เช่น ภาคก่อสร้างและอสังหาฯ”
ในปี 2558 มีข้อมูลจากกระทรวงการคลังว่า สินเชื่อจากสถาบันที่ให้กู้ยืมเงินมีมูลค่าเท่ากับเงินฝากเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของตัวเลขจีดีพีอย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังคงกังวลว่า ปริมาณสินเชื่อจะแซงหน้าเงินฝากในไม่ช้า เนื่องจากสินเชื่อมีอัตราการขยายตัวถึง 30% ขณะที่เงินฝากขยายตัวเพียง 19% เท่านั้น
นายเชียง วรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคของกระทรวงการคลัง อธิบายว่า สัดส่วนสินเชื่อที่สูงกว่าจำนวนเงินฝากช่วยก่อให้เกิดสภาพคล่องในธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ในภาคอสังหาฯ หากไม่ได้เงินกู้ยืม การดำเนินการก็จะสะดุด
นายวรรณฤทธิ์ กล่าวในการประชุมว่า “ภาคอสังหาฯที่เติบโตเร็วมาก ทำให้รัฐบาลกังวลว่า อาจมีภาวะอุปทานล้นตลาดและมีจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นอาจจะทำให้มีความเสี่ยงในหนี้ที่กู้ยืม ดังนั้น ภาครัฐจึงควรทำวิจัยและจับตาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น”
ในปีที่แล้ว มีข้อมูลจากกระทรวงการคลังว่าสัดส่วนสินเชื่อจากธนาคาร 1 ใน 8 ไหลเข้าไปในภาคก่อสร้างของประเทศและภาคอสังหาฯ มีรายงานข้อมูลความเสี่ยงทั่วโลกจากการประชุมเศรษฐกิจโลก ที่เผยแพร่ล่าสุดเดือน ม.ค.ว่ากัมพูชาเป็น 1 ใน 7 ประเทศ ที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่แตกได้ จากอุปทานล้นตลาดของตลาดอสังหาฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นลำดับต้นๆ
นายทอม โอ ซุลลิแวน จากเว็บไซต์ Realestate.com.khกล่าวว่า ถ้าอุปสงค์ในตลาดบ้านร่วงลงมาต่ำกว่าอุปทานจะทำให้ราคาบ้านลดต่ำลง และกดดันนักลงทุนและจำนวนเงินที่กู้ยืมมา ซึ่งจะส่งผลต่อภาคธนาคารแน่นอน เขากล่าวว่า
“ประมาณ 70% ของผู้พัฒนาอสังหาฯ ในกัมพูชาเป็นเงินลงทุนจากต่างประเทศ”
นายคริสโตเฟอร์ ฟอร์ซิเนตติ ผู้ชำนาญการด้านธนาคาร และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของ บริษัทเจเอสเอ็ม อินโดไชน่า กล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่า ธนาคารบางแห่งมีความเสี่ยงในด้านอสังหาฯ ควรมีการให้ข้อมูลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในการสืบค้นของธนาคารในเรื่องผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯ”
นายฟอร์ซิเนตติ ยังกล่าวว่า การจับตาอย่างใกล้ชิดในการขยายตัวของสินเชื่อภาคอสังหาฯ เป็นทิศทางการดำเนินงานที่เหมาะสมแล้ว เขาสรุปว่า “ใน 2 ปีข้างหน้า เราคาดว่าจะมีภาวะอุปทานล้นตลาด มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากผู้ซื้อภายในประเทศที่ขอสินเชื่อจากธนาคารเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีถ้ารัฐบาลจะเริ่มให้ความรู้แก่ผู้คนเสียตั้งแต่ตอนนี้”