พรรค NLD พร้อมคุมเศรษฐกิจเมียนมา
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งชนะการเลือกตั้งในเมียนมา และกำลังเตรียมพร้อมเพื่อขึ้นมาบริหารประเทศในปี 2559 ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญในการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ทั้ง 3 แห่งคือ ติละวาในเขตย่างกุ้ง ทวายในเขตตะนาวศรี และเจ้าผิวในรัฐอาระกัน หรือรัฐยะไข่ ให้เสร็จสมบูรณ์ตามแผน
นายหม่อง หม่อง โซ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส เตือนว่า รัฐบาลที่มาจากพรรค NLD ไม่อาจหลีกเลี่ยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ได้ เพราะแผนการทั้งหมดปรากฏเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นชัดเจนแล้ว และมีการดำเนินการโครงการไปแล้วค่อนข้างมาก นายหม่อง หม่อง โซ ให้ความเห็นว่า “เป็นความรับผิดชอบใหญ่หลวงที่รัฐบาลใหม่ต้องบริหารจัดการ แต่ละ SEZ ก็มีสถาน การณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นรัฐบาลต้องทำอย่างรอบคอบ และระมัดระวังที่สุด” เขายังเสริมอีกว่า
“รัฐบาลใหม่ต้องมีความโปร่งใส และต้องรู้ว่าความแตกต่างของเขตเศรษฐกิจพิเศษจะสร้างผลประโยชน์ให้แกjประเทศมากแค่ไหน”
ผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 แห่งได้เข้าประชุมกับนายพลเต็งเส่ง ที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเมียนมาเมื่อวันที่ 21 ธ.คที่ผ่านมา
นายเนียน ตุน รองประธานาธิบดีเมียนมา ให้ข้อมูลว่า ในบรรดาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 แห่ง ติละวาเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จที่สุด มีการดำเนินการในเฟสแรกเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย และเขตประกอบธุรกิจในพื้นที่มากกว่า 1,800 ไร่ คาดการณ์ว่าจะมีถึง 48 บริษัทจาก 12 ประเทศที่มาลงทุนในโครงการนี้ โดยมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 17,500 ล้านบาท (35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
ในส่วนโครงการทวาย มีความเห็นพ้องกันในการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงว่า ญี่ปุ่นจะถือหุ้นโครงการนี้ในสัดส่วนที่เท่ากับเมียนมา และไทย ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จะมีการดำเนินการก่อสร้างทั้งท่าเรือน้ำลึก ทางด่วน และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยประเทศญี่ปุ่นจะสนับสนุนโครงการทั้งในด้านเทคนิค และความช่วยเหลือทางการเงิน
อย่างไรก็ตามโครงการเจ้าผิวในเฟสแรกยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากมีการรวบรวมข้อเรียกร้องจากองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร 107 แห่งจากการประชุม ในสัปดาห์ที่แล้วว่า ควรเลื่อนโครงการเจ้าผิวออกไปก่อน จนถึงช่วงเวลาที่พรรค NLD ได้เข้ามาบริหารประเทศ โดยมีการพูดถึงการให้ประชาชนในรัฐยะไข่ย้ายออกจากพื้นที่ และการจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดินที่ยังตกลงกันไม่ได้ เหตุผลสำคัญที่เห็นควรให้เลื่อนโครงการเจ้าผิวออกไป เนื่องจากมีความไม่เชื่อมั่นในความโปร่งใสในการบริหารจัดการโครงการนี้
นอกจากนี้ยังมีการเสนอราคาเพื่อพัฒนาโครงการในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เป็นนักลงทุนของเมียนมา 1 บริษัทกับนักลงทุนจากต่างชาติ 11 บริษัทที่เข้าร่วมในการเสนอราคาครั้งนี้ โดยนายพลเต็งเส่ง ที่ยังรั้งตำแหน่งประธานาธิบดีเมียนมา ได้เร่งรัดให้โครงการนี้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะยังไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้ชนะในการเสนอราคาครั้งนี้ก็ตาม
นายยัน เมียว เต็ง นักวิเคราะห์การเมือง ให้ความเห็นว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวซึ่งถูกคาดหวังว่าจะเป็นประตูที่เชื่อมเมียนมากับประเทศตะวันตก น่าจะเป็นโครงการที่สร้างปัญหาให้กับพรรค NLD มากที่สุด
สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวนั้น ประกอบไปด้วยโซนอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย ท่าเรือน้ำลึก 2 แห่งบนเกาะรัมรี และเกาะมาเดย์ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดถึง 7,720 ไร่