อินโดฯ ขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 12 เดือน
อินโดนีเซียรายงานการขาดดุลการค้าเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 12 เดือน จากความต้องการที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและนอกประเทศ และผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่ดิ่งลงของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก
สำนักงานสถิติได้รายงานว่า ในเดือนพ.ย. อินโดนีเซียมีตัวเลขการขาดดุลการค้าถึง 346.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 12,172 ล้านบาท (35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เปรียบเทียบกับการคาดการณ์จากโพลล์ของรอยเตอร์ที่ว่า จะได้ดุลการค้าถึง 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 29,400 ล้านบาท และเปรียบเทียบกับการได้ดุลการค้าในเดือนต.ค.ที่สูงถึง 1,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 35,350 ล้านบาท
โดยหากวิเคราะห์จากตัวเลขการเกินดุลการค้าตลอดระยะเวลา 11 เดือนจนถึงเดือนต.ค. จะเห็นว่าตัวเลขการนำเข้าลดลงเร็วกว่าการส่งออก
ทั้งนี้ในเดือนพ.ย. ตัวเลขการส่งออกดิ่งลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 17.58% จากปีที่แล้ว โดยมีมูลค่า 11,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 390,600 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ตัวเลขการนำเข้าลดลง 18.03% ไปอยู่ที่ 11,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 402,850 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 19.4%
นายซูร์ยามิน ผู้บริหารของสำนักงานสถิติให้ข้อมูลว่า “ในบรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ 22 อย่าง ที่เราจับตาดูอย่างใกล้ชิด มีเพียง 2 อย่างเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นทุกเดือน นั่นคือ เมล็ดโกโก้ที่ราคาปรับสูงขึ้น และปลาป่น” เขายังเพิ่มเติมว่า การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลัก อย่างถ่านหิน และปาล์มน้ำมัน ต่างก็มีปริมาณลดลงในเดือนพ.ย.
นายวิษณุ วาร์ดานา นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร CIMB Niaga ในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า “นี่เป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก ถึงแม้จะมีการคาดการณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว”
“อินโดนีเซียยังคงเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ยังไม่ได้เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในการผลิตผลิตภัณฑ์ ดังนั้นหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงทรงตัวอยู่อย่างนี้ในปีหน้า การส่งออกก็ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันอีกในปีหน้า”
นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ได้ประกาศอัตราภาษีที่จูงใจผู้ส่งออก และมีความพยายามในการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของอินโดนีเซียให้ เพื่อกระตุ้นการส่งออก
ภายใต้การบริหารงานของเขา รัฐบาลจะเร่งให้มีการทำข้อตกลงทางการค้ากับหลายประเทศ เขายังได้เผยถึงความตั้งใจของอินโดนีเซียในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ในระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
มีการคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปีนี้ว่า จะชะลอตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 จากการส่งออก การลงทุน และการบริโภคที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการค้าที่ซบเซาลงในปีนี้ จึงมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดบัญชีเดินสะพัดขาดดุล
โดยก่อนที่จะมีการประกาศข้อมูลการค้าในเดือนพ.ย. ธนาคารอินโดนีเซียได้คาดการณ์ว่าช่องว่างของบัญชีเดินสะพัดกับตัวเลขจีดีพีจะอยู่ที่ 2% ซึ่งเป็นการตกชั้นลงมาจากสถานะประเทศที่ “แข็งแรง” ทางเศรษฐกิจ มีรายงานว่า ตัวเลขการขาดดุลในปี 2557 อยู่ที่ 2.9% ของจีดีพี
มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางของอินโดนีเซียจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 7.5% จากการประชุมประจำปีในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 7.25% ในไตรมาสแรกของปี 2559