เหมืองหยกเมียนมาถล่มตาย 104 คน
เหตุการณ์ดินถล่มในเหมืองหยกทางภาคเหนือของเมียนมาได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 104 คน
สื่อของเมียนมารายงานว่า มีเหตุการณ์ดินถล่มในเหมืองหยกที่เมืองผากัน ในรัฐกะฉิ่น เหล่าผู้เคราะห์ร้ายถูกดินที่กองเป็นภูเขาสูงในเหมืองถล่มทับจนดูเหมือนว่าพวกเขา ถูกกลบฝังอยู่ใต้ดิน โดยผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ เหมือง และดำรงชีวิตด้วยการคุ้ยหาเศษชิ้นส่วนหยกที่อาจมีหลงเหลืออยู่เพื่อนำไปขาย
เหตุการณ์ดินถล่มในเหมืองหยกเมื่อวันที่ 21 พ.ย.นี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 104 คนแล้ว และมีผู้สูญหายอีกหลายสิบคน
สภากาชาดของเมียนมาได้ออกปฏิบัติการกู้ภัยครั้งใหญ่ โดยมีทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครจำนวนมาก เข้าให้การช่วย เหลือเพื่อขุดค้นหาผู้รอดชีวิต มีรายงานจากสื่อในเมียนมาว่า ผู้เสียชีวิตบางคนอาจนอนหลับอยู่ในกระท่อมในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ดินถล่ม
นายนีลาร์ มินท์ เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น กล่าวว่า “เราพบแต่ศพจำนวนมาก และไม่มีใครรู้ว่ามีคนมากเท่าไรที่อยู่ที่นี่” เขากล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่เห็นชายคนหนึ่งที่ถูกดึงขึ้นมาจากซากดินถล่ม ต้องเสียชีวิตในเวลาต่อมา
การค้นหาต้องหยุดชะงักเป็นระยะจากสภาพอากาศที่เลวร้าย และด้วยระบบการสื่อสาร และคมนาคมในรัฐกะฉิ่นที่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ทำให้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์นี้ได้
ทั้งนี้หยกที่ได้จากเหมืองในรัฐกะฉิ่นได้รับการยอมรับว่า มีคุณภาพดีที่สุดในโลก
จากข้อมูลในรายงานเดือนต.ค.ของนักวิจัยองค์กรโกลเบิลวิทเนส แสดงว่า มูลค่าของหยกที่ผลิตได้ในปี 2557 นั้นสูงถึง 31,00 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีทั้งประเทศ แต่น่าเสียดายที่เงินเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนในรัฐกะฉิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้คนในบริเวณรอบเหมืองกล่าวหาว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้กระทำทารุณกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งกับสุขภาพ และความปลอดภัยของคนจน และที่ดินที่โดนยึดไปเป็นของบริษัทเหมือง
เห็นได้ชัดว่า ในปัจจุบัน ที่ดินในเหมืองหยกจำนวนมากจะมีสภาพขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อเหมือนพื้นผิวดวงจันทร์ หลังจากโดนขุดเจาะเพื่อหาหยก เท่ากับว่าการทำเหมืองหยกนั้น เป็นการทำลายสภาพแวดล้อมทั้งผืนดิน และมลภาวะในอากาศ สร้างผลกระทบจำนวนมากในรัฐกะฉิ่น แต่ผลตอบแทนที่ได้รับกลับไม่คุ้มค่าเลย