กัมพูชานิยมดูข่าวจากเฟซบุ๊ก
จากผลการสำรวจ จำนวนชาวกัมพูชาที่นิยมดูข่าวจากอินเทอร์เน็ต และเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้
สถาบันโอเพ่น ที่เป็นเอ็นจีโอในกัมพูชาได้เผยแพร่ผลการศึกษาประจำปีเรื่อง “โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตในกัมพูชาปี 2558” ออกมาว่า ในขณะที่ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ยังคงนิยมดูโทรทัศน์เพื่อติดตามสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่การเสพข่าวจากอินเทอร์เน็ต และเฟซบุ๊กกลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่าง 2,064 คน อายุ 15-65 ปี มี 24.9% ที่ตอบว่าเฟซบุ๊ก และอินเทอร์เน็ต คือแหล่งข้อมูลข่าวสารที่สำคัญที่สุด ในขณะที่ 31.8% เลือกดูข่าวจากโทรทัศน์ และมีเพียง 17.8% ที่ฟังข่าวจากวิทยุ
นายจาเวียร์ โซลา ผู้กำกับโปรแกรมที่สถาบันโอเพ่น และเป็น 1 ในผู้จัดทำรายงาน กล่าวว่า “เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในวิธีการสื่อสาร และช่องทางการรับรู้ข่าวสารในกัมพูชา”
จากรายงานของสถาบันนี้เมื่อปี 2556 อัตราส่วนของคนที่นิยมดูข่าวโทรทัศน์คือ 38.9% และจากวิทยุคือ 38.8% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทิ้งห่างจาก 15.2% ที่เป็นของ กลุ่มคนที่ดูข่าวจากอินเทอร์เน็ต และเฟซบุ๊กค่อนข้างมาก
เขากล่าวว่า “อาจเป็นได้ที่อินเทอร์เน็ตจะได้รับความนิยมเท่ากับโทรทัศน์ในปีหน้านี้”
จากรายงานนี้มี 39.2% ที่เข้าร่วมในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนกับเพื่อน และมี 31.3% ที่เข้าใช้งานเฟซบุ๊กเพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารในกัมพูชา
นายเจสซี่ ออร์นดอร์ฟ ผู้จัดการโปรแกรมนวัตกรรม กล่าวว่า การที่ชาวกัมพูชานิยมใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อรับรู้ข่าวสาร สะท้อนถึงการปรับตัวของสื่อในประเทศที่มีการเปิดเว็บไซต์ข่าวที่หลากหลาย
เพื่อให้บริการกลุ่มคนรุ่นใหม่
จากรายงานมีข้อมูลว่า 39.5% ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน ในขณะที่ 28.6% ใช้งานอินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือ
บล็อกเกอร์คนหนึ่งกล่าวว่า การใช้ภาษาเขมรบนสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น โดยมีผู้ใช้ภาษาเขมรบนโทรศัพท์มือถือถึง 27.3% นับว่าเพิ่มขึ้นถึง 50% จากปี 2557
บล็อกเกอร์คนนี้ยังกล่าวอีกว่า “โทรทัศน์อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเกือบ 100% ทำให้มีข่าวสารไม่เพียงพอ มีแหล่งข่าวมากมายที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือกระจายข่าว มันดีกว่าการเป็นคนรับข่าวฝ่ายเดียว เราได้แชร์ข่าวกับเพื่อน และออกความเห็น ทำให้รู้สึกว่าเรามีส่วนเกี่ยวข้องในหลายๆ เรื่อง”