อาเซียนไม่พ้นผลกระทบจากยูเครน

วิกฤตความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย เลี่ยงไม่พ้นส่งผลกระทบถึงกลุ่มชาติอาเซียน แม้ความสัมพันธ์ทางการค้าจากทั้งรัสเซียและยูเครนต่ออาเซียนมีมูลค่าไม่มากนัก ขณะที่อาเซียนเพียงเรียกร้องใช้สันติวิธีแก้ปัญหา

สื่อนิเคอิ เอเชีย รายงานสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย ส่งผลกระทบถึงกลุ่มชาติอาเซียนอย่างไรบ้างและมากน้อยเพียงใด โดยระบุมูลค่าการค้าการลงทุนของรัสเซียในอาเซียนจากภาพรวมแต่ละปีไม่สูงมากนัก โดยมีมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านดอลลลาร์สหรัฐฯ แต่ถ้าแยกเป็นรายประเทศ พบว่า รัสเซียทำการค้ากับบรูไนมากที่สุด ตามด้วยเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา เมียนมาและลาว ตามลำดับ
คู่ค้าสำคัญที่สุดของรัสเซียในอาเซียน คือเวียดนาม โดยเฉพาะการค้าอาวุธและการลงทุนจากรัสเซียในธุรกิจน้ำมันนอกชายฝั่งเวียดนาม นอกจากนั้น รัสเซียยังเป็นคู่ค้าอาวุธรายใหญ่แก่สปป.ลาว กัมพูชาและเมียนมา

มูลค่าการค้าของทั้งรัสเซียและยูเครนต่อภูมิภาคอาเซียน ถือว่าไม่มาก คือ รัสเซียมีเพียง 0.53 เปอร์เซ็นต์ ส่วนยูเครน มีเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการลงทุนจากรัสเซียในอาเซียน เพียง 0.046 เปอร์เซ็นต์ และการลงทุนจากยูเครนในอาเซียน เพียง 0.003 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกัน สินค้านำเข้าจากยูเครนสู่กลุ่มชาติอาเซียนจำนวนมาก คือ แป้งสาลี ข้าวโอ๊ตและธัญพืช คิดเป็น 9.21 เปอร์เซ็นต์ และอาเซียน นำเข้าสินค้าเหล่านี้จากรัสเซียอีก 3.99 เปอร์เซ็นต์

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ชี้ว่าผลกระทบจากความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย อาจส่งผลถึงราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงภาวะเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงขึ้น จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงความพยายามฟื้นตัวจากผลกระทบภัยระบาดโควิด-19 ขณะที่กลุ่มชาติอาเซียนได้ดำเนินการเพียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย ใช้วิถีทางสันติแก้ปัญหา.