ฟิลิปปินส์อาจใช้กฎอัยการศึก

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์กล่าวว่า อาจมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก หากสถานการณ์ของปัญหายาเสพติดทวีความรุนแรงขึ้น
อดีตนายกเทศมนตรีวัย 71 ปีผู้นี้กล่าวว่า การบังคับใช้กฎอัยการศึกจะเป็นไปเพื่อปกป้องชาวฟิลิปปินส์และเด็กๆ ของประเทศนี้
ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ถูกสังหารไปมากถึง 6,000 คนแล้ว จากนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของประธานาธิบดีดูเตอร์เตในเวลาเพียง 6 เดือน
ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวว่า นโยบายของเขามุ่งหวังที่จะปกป้องประเทศให้พ้นจากความล้มเหลวและพ่ายแพ้จากปัญหายาเสพติดที่รุนแรงและฝังรากลึกมายาวนานหลายปี
“ หากสถานการณ์เลวร้ายลง ผมจะประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างที่ผมต้องการ ไม่มีใครหยุดผมได้ ” ประธานาธิบดีดูเตอร์เตกล่าวสุนทรพจน์กับนักธุรกิจในเมืองดาเวา ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา
“ ประเทศของผมต้องอยู่เหนือทุกอย่าง ถึงแม้จะมีข้อจำกัดก็ตาม” เขากล่าวเสริมโดยกฎอัยการศึกจะช่วยเอื้อให้ประธานาธิบดีดูเตอร์เตสามารถใช้เจ้าหน้าที่ทหารในการจับกุมและกักขังประชาชนได้นานขึ้น โดยไม่ต้องมีการตั้งข้อหา อ้างอิงตามรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีสามารถประกาศกฎอัยการศึกได้นาน 60 วัน โดยเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ในการหยุดยั้งการจู่โจม หรือ การก่อกบฎ ทั้งนี้ ทางสภาสามารถเพิกถอนมาตรการนี้ได้ภายใน 48 ชั่วโมง ขณะที่ศาลสูงสามารถพิจารณาทบทวนถึงการบังคับใช้กฎหมายนี้ แต่ทางประธานาธิบดีดูเตอร์เตชี้ว่า ข้อกำหนด 60 วันจะถูกยกเลิก
“ ถ้าผมต้องประกาศใช้กฎอัยการศึก ผมก็จะทำ ไม่เฉพาะกับการถูกโจมตี การก่อกบฎ หรืออันตรายใดๆ ผมจะประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปกป้องประเทศของผม” ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความเห็นของเขาเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับเมื่อเดือนที่แล้วที่เขากล่าวว่า จะไม่มีการใช้กฎอัยการศึก และกล่าวว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ทั้งนี้ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในฟิลิปนส์ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2515 ภายใต้การปกครองประเทศของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มากอส ที่กล่าวว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรมและการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ โดยหลังจากนั้น ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2524
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีดูเตอร์เตปฏิญานว่า จะนำพาประเทศออกจากปัญหายาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเขากล่าวว่า ส่งผลกระทบถึงประชาชนมากถึง 4 ล้านคน จากนโยบายการปราบปรามของเขา ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการเสียชีวิตอย่างมีข้อกังขาจากการกระทำแบบศาลเตี้ย มีรายงานว่า มีพ่อค้ายาเสพติดและผู้เสพยาเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเกือบ 1 ล้านคน
การปราบปรามอย่างรุนแรงก่อให้เกิดการประณามจากนานาชาติ รวมทั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนกล่าวว่า การที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เต
สนับสนุนให้มีการวิสามัญผู้ต้องสงสัยได้ อาจทำให้เขาถูกตั้งข้อหากระทำอาชญากรรมกับมนุษยชาติและถูกนำตัวขึ้นสู่ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศได้.