สิงคโปร์เครียดจิตป่วย พบหมอปีละเกือบ 5 หมื่นคน
ชาวสิงคโปร์เผชิญความเครียดสะสมมากขึ้น ผู้คนเข้ารับการบำบัดเยียวยาจากจิตแพทย์เฉลี่ยปีละเกือบ 5 หมื่นคน อัตราการฆ่าตัวตายก็เพิ่มขึ้น
กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ เปิดเผยรายงานเมื่อ 2 พ.ย. ระบุช่วงเวลาระหว่างปี 2016 -2019 ชาวสิงคโปร์เข้ารับการบำบัดเยียวยาอาการป่วยทางจิตตามโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและคลินิกทั่วประเทศมากเฉลี่ยปีละ 49,800 ราย ถือว่าสูงไม่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศประมาณ 5.6 ล้านคน
อาการป่วยทางจิตส่วนใหญ่ คือ ซึมเศร้า วิตกกังวล สืบเนื่องมาจากหลายปัญหา อาทิ ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง กับครอบครัว กับสังคม ปัญหาการงาน การเงิน และปัญหาด้านสุขภาพส่วนตัว ผู้ป่วยส่วนใหญ่เชื้อสายจีนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และผู้ป่วย 30 เปอร์เซ็นต์ พักอาศัยอยู่ตามแฟลตหรือห้องพักขนาดเล็ก
นางราฮายู มาห์ซาม รมว.สาธารณสุข แถลงระบุข้อมูลปี 2020 ยังไม่ชัดเจน แต่จากข้อมูลช่วงปี 2016 – 2019 ทำให้เห็นสถานการณ์เลวร้ายลง เพราะอาการป่วยทางจิตจะนำไปสู่อาการป่วยทางกายภาพได้อีก ทั้งอาจนำไปสู่ความพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งอัตราการฆ่าตัวในสิงคโปร์ก็เพิ่มขึ้นด้วย คือ จากช่วงปี 2019 ผู้ฆ่าตัวตาย 400 ราย เพิ่มเป็น 452 รายเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มคนฆ่าตัวตายส่วนใหญ่คือ ผู้ชาย 320 ราย ผู้หญิง 132 ราย.