เมียนมาปราบโหด ทำคนพลัดถิ่นเกือบ 2.5 แสนคน

ย่างกุ้ง – เมื่อวันที่ 21 เม.ย. องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติระบุว่า การปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมาทำให้มีประชาชนพลัดถิ่นเกือบ 250,000 คน
โดยเผด็จการทหารยกระดับการใช้อาวุธในการปราบปรามการชุมนุมประท้วงต้านรัฐประหารหลังกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซานซูจี
มีประชาชนถูกสังหารจากการปราบปรามไปแล้วอย่างน้อย 738 คน และมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำในฐานะนักโทษการเมืองประมาณ 3,300 คน จากข้อมูลของกลุ่มสิทธิมนุษยชนในเมียนมา
“ น่าตกใจที่ได้ทราบว่า การปราบปรามของเผด็จการทหารทำให้มีคนต้องพลัดถิ่นเกือบ 1 ใน 4 ของประชาชน 1 ล้านคน อ้างอิงจากแหล่งข่าว” ทอม แอนดรูว์ส ทูตพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนประจำเมียนมาทวีตข้อความเมื่อวันที่ 21 เม.ย.
“ โลกต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขภัยพิบัติทางมนุษยธรรมนี้โดยทันที”
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกว่า 2,000 คนอพยพข้ามพรมแดนเมียนมาไปประเทศไทย และมีการอพยพพลัดถิ่นในเมียนมาอีกหลายพันคน พาโดห์ มานน์ มานน์ โฆษกของสภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มกบฎในเมียนมาในพื้นที่พรมแดนตะวันออกระบุ
“ พวกเขาซ่อนตัวในป่าใกล้หมู่บ้าน” เขากล่าว
Free Burma Rangers ซึ่งเป็นกลุ่มช่วยเหลือคริสเตียน ประเมินว่า มีผู้อพยพพลัดถิ่นอย่างน้อย 24,000 คนในรัฐกะเหรี่ยงเนื่องจากมีการโจมตีทั้งทางบกและทางอากาศตั้งแต่ต้นเดือน
“ แม้การโจมตีทางอากาศจะหยุดแล้ว แต่กลับมีการโจมตีทางบกเพิ่มขึ้น” เดวิด อูแบงค์ ผอ.Free Burma Range กล่าวกับสื่อ AFP
เขาระบุว่า ผู้อพยพจำนวนมากเป็นชาวนาและอาจทำให้ขาดแคลนอาหารได้ในอนาคตหากพวกเขาไม่สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยและกลับไปประกอบอาชีพได้ดังเดิม
“ จะเกิดปัญหาไม่มีอาหารนานถึง 6 เดือน” เขากล่าว โดยเสริมว่า หลายคนต้องนอนในถ้ำ หรือใต้ต้นกล้วย
โดยอูแบงค์ระบุว่ามีการโจมตีทางอาการรายวันในรัฐคะฉิ่น ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศ และทำให้มีผู้อพยพพลัดถิ่นอย่างน้อย 5,000 คนในการต่อสู้ครั้งล่าสุด
“ เรามี 980 คนจาก 27 หมู่บ้าน ในตอนนี้ เรามีความลำบากเรื่องอาหาร” แบรง ชอง ผู้นำค่ายในรัฐคะฉิ่นกล่าวกับสื่อ
ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้นำชาติอาเซียนและบรรดารมว.ต่างประเทศมีกำหนดจะจัดการประชุมเกี่ยวกับวิกฤตเมียนมาในกรุงจาการ์ตาวันที่ 24 เม.ย.นี้ และรายงานข่าวที่ว่านายพลมินอ่องหล่ายจะเข้าร่วมประชุมด้วยทำให้นักเคลื่อนไหวและนักสิทธิมนุษยชนไม่พอใจ
ช่วงคืนวันที่ 21 เม.ย. ทางการปล่อยตัวนักข่าววีดีโออิสระ โกลัต ที่ถูกคุมขังนาน 1 เดือนในกรุงเนปิดอว์
มีนักข่าวอย่างน้อย 70 คนที่ถูกทางการจับกุมตัวหลังรัฐประหาร และมี 38 คนที่ถูกควบคุมตัว จากรายงานของ Reporting Asean
ในวันที่ 21 เม.ย. มีการชุมนุมประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในหลายเมืองทั่วเมียนมา โดยผู้ชุมนุมสวมเสื้อสีฟ้าเพื่อแสดงความเป็นเอกภาพและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง
ทั้งนี้ นักโทษในเมียนมาสวมเสื้อสีฟ้า “ ผมอยากให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมที่ประท้วงเพื่อให้ความจริงเปิดเผย” แพทย์คนหนึ่งในย่างกุ้งที่เข้าร่วมในการประท้วงเสื้อสีฟ้ากล่าวกับสื่อ