น้ำท่วม ดินถล่มอินโดฯ/ติมอร์-เลสเต ดับเกิน 150 คน
จาการ์ตา : เมื่อวันที่ 6 เม.ย.เจ้าหน้าที่กู้ภัยระดมกำลังค้นหาผู้ที่ยังสูญหายหลังเกิดน้ำท่วมและดินถล่มหลายหมู่บ้านในอินโดนีเซียและติมอร์-เลสเต ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 150 รายและทำให้หลายพันคนไร้ที่อยู่อาศัย
ฝนที่ตกหนักจากพายุไซโคลนเซโรจาทำให้หมู่บ้านเล็กๆหลายแห่งจมโคลน ต้นไม้หักโค่นและทำให้ประชาชนประมาณ 10,000 คนต้องอพยพหาที่พักพิงในหลายพื้นที่ของอินโดนีเซีย
สำนักบรรเทาภัยพิบัติแห่งอินโดนีเซียระบุว่า มีผู้เสียชีวิตถึง 130 รายในหมู่บ้านบนเกาะห่างไกลใกล้ติมอร์-เลสเต และมีการประกาศผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการเพิ่มอีก 27 ราย
ทีมค้นหาและกู้ภัยในอินโดนีเซียเร่งค้นหาผู้สูญหายอีกกว่า 70 ราย และต้องใช้เครื่องขุดเพื่อเคลียร์ซากปรักหักพังที่ถล่มมากองสูง
พายุถล่มบ้านเรือนหลายหมู่บ้านลงมาจากภูเขาและไปถึงปากอ่าวบนเกาะเลมบาตา
ทางการระบุว่า มีความยากลำบากในการอพยพประชาชนเนื่องจากต้องพยายามป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย
“ ประชาชนที่อพยพมา มีแต่เสื้อผ้าเปียกๆบนหลัง ไม่มีอะไรเลย” โธมัส โอลา ลองอะเดย์ รองนายกเทศมนตรีในพื้นที่ระบุ “ พวกเขาต้องการผ้าห่ม หมอน ที่นอนและเต็นท์”
พื้นที่นี้ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
“เราไม่มีวิสัญญีแพทย์และศัลยแพทย์ แต่มีการรับปากแล้วว่าความช่วยเหลือกำลังมา” ลองอะเดย์กล่าว
“ มีคนบาดเจ็บกระดูกหักหลายคนมาก เพราะพวกเขาถูกกระแทกจากก้อนหิน ท่อนไม้และซากปรักหักพังต่างๆ”
เทศบาลฟลอเรสตะวันออกที่อยู่ใกล้เคียง มีดินถล่มทับทั้งบ้าน สะพานและถนน
รายงานข่าวแสดงให้เห็นภาพเจ้าหน้าที่ระดมกำลังขุดศพเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายออกมาจากโคลนที่ถล่มทับและนำร่างพวกเขาบรรจุในถุงห่อศพ
พายุเคลื่อนตัวไปทางชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลียหลังทำความเสียหายให้ทั้งโรงพยาบาล สะพานและบ้านเรือนหลายพันหลัง
“เรายังมีสภาพอากาศแปรปรวน (จากพายุไซโคลน) ต่อไปอีก 2 – 3 วัน” ราดิตยา จาตี โฆษกสำนักบรรเทาสาธารณภัยระบุ
เขาเสริมว่า ทางการยังคงเร่งทำงานเพื่ออพยพชุมชนห่างไกลและจัดหาสถานที่พักพิงให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ
ทั้งนี้ เหตุดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นปกติในอินโดนีเซียช่วงฤดูฝน
เดือนม.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันในชวาตะวันตก ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 40 ราย และในเดือนก.ย.ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 รายบนเกาะบอร์เนียว
มีการประเมินว่า ชาวอินโดนีเซีย 125 ล้านคน หรือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ อาศัยอยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงเกิดดินถล่ม
จากข้อมูลของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บ่อยครั้งที่ภัยธรรมชาติเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศ