ดูแล้ว: 38 คปภ.หวังดัน “หัวไทร” เป็นต้นแบบประกันภัยข้าวนาปีของภาคใต้ ตั้งเป้าดันชาวนาทำประกันฯครบ 100% แจงเหตุที่ต้องลงพื้นที่ช่วงนี้ หวังเร่งทำประกันฯก่อนเกิดภัยธรรมชาติ ตั้งเป้าจ่ายสินไหมฯทั้งปี 2,000 ล้านบาท เผยอยากให้รัฐบาลวางแผนระยะยาว สร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่าย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวในการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกษตรกร โครงการประกันข้าวนาปีฯ ประจำปี 2562 ณ หอประชุมที่ว่าการ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 1 ต.ค.62 ว่า อยากใช้กรณีการทำประกันภันข้าวนาปีของ อ.หัวไทร เป็น “ต้นแบบ” ให้กับพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ นอกจากมีพื้นที่ทำนามากกว่า 80,000 ไร่ ใหญ่ที่สุดของภาคใต้แล้ว ที่นี่ยังมีสัดส่วนการทำประกันภัยข้าวนาปีสูงถึง 96.41% ในปี 61 โดยตั้งเป้าว่าปี 62 นี้ จะรณรงค์ให้เกษตรกรทำประกันภันข้าวนาปีให้ได้ถึง 99.99% -100% ทั้งนี้ จากพื้นที่เป้าหมายที่รัฐบาลต้องการทำประกันภัยข้าวนาปีในปีนี้ 30 ล้านไร่ และได้ทำมาแล้วในพื้นที่ภาคต่างๆ รวมกัน 27.99 ล้านไร่ ทำให้เหลือพื้นที่ในเป้าหมายอีกกว่า 2 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่การทำนาข้าวในภาคใต้มีไม่มาก คาดว่าจะมีการทำประกันภัยข้าวนาปีทั้ง จ.นครศรีธรรมราช, จ.ชุมพร, จ.พัทลุง และจ.นราธิวาส รวมกันประมาณ 800,000 ไร่ ซึ่งจะทำให้การทำประกันข้าวนาปีของทุกภาครวมกันราวมากกว่า 28 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม แม้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ 30 ล้านไร่ แต่ก็สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา “การทำนาข้าวของภาคใต้ ล่าช้ากว่าทุกภาคของประเทศ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่แตกต่างออกไป ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้เห็นปัญหาของภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นวาตะภัยหรืออุทกภัย และมักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.ของทุกปี ดังนั้นสำนักงาน คปภ.จึงต้องเร่งลงพื้นที่เพื่อเชิญชวนให้ชาวนาเร่งดำเนินจัดทำประกันข้าวนาปีโดยเร็ว อย่างน้อยก็เป็นการบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต” เลขาธิการ คปภ.ย้ำ และว่า ที่ผ่านมาได้มีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้กับความสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติทั้ง 8 ประเภทรวมกันกว่า 1,800 ล้านบาท คาดว่าทั้งปี 62 นี้ อาจต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนรวมกัน 2,000 ล้านบาท “เรามาเตือนและเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาเร่งทำประกันภัยข้าวนาปีในช่วงสุดท้ายของโครงการในปีนี้ เพราะเชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อชาวนาเอง ทั้งนี้ เบี้ยประกัน (ในส่วนความคุ้มครองพื้นฐาน) ต่อไร่ที่ 85 บาท/ไร่นั้น รัฐบาลออกให้แล้ว 51 บาท ที่เหลือ 34 บาท/ไร่ หากเป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทาง ธ.ก.ส.จะออกให้เอง โดยชาวนาไม่ต้องเสียเงินสักบาทเดียว แต่ได้รับความคุ้มครอง 1,260 บาท/ไร่ แต่ถ้าไม่ใช่ลูกค้าของ ธ.ก.ส. ชาวก็ต้องออกเงินในส่วนนี้เอง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวอีกว่า ชาวนายังสามารถจะซื้อความคุ้มครองส่วนเพิ่มได้อีก ในราคา 25 บาท/ไร่ โดยจะได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติม 240 บาท/ไร่ กรณีเกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และ 120 บาท/ไร่ กรณีเกิดความเสียหายจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ สำนักงาน คปภ.อาจนำ “ระบบประกันภัยแบบแพ็กเกจ” ซึ่งจะรวมสินค้าเกษตรที่มีกระบวนการผลิต การบำรุงรักษา และเก็บเกี่ยวที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน มารวมเป็นผลิตภัณฑ์ประกันเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการและการทำประกันภัยต่อไป...
อ่านต่อ