งบฯ 62 เรื่องร้อนๆ ที่ คสช.อาจไม่ได้ใช้
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับวาระแรกของการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 เมื่อช่วงสายวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา อย่างที่เห็นกัน…กับอาการงัวเงีย ก่อนผุดลุกผุดนั่งของ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยกมือพร้อมเพรียง สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ด้วยคะแนน 197 : 0 เสียง มีแค่ 3 รายที่งดออกเสียง
จากนั้น เข้าสู่ขั้นตอนจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายฯ แยกเป็นตัวแทนรัฐบาล 10 คน และอีก 40 คนมาจาก สนช. และหากพิจารณาตามกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญ คงต้องใช้เวลาอีก 105 วัน เพื่อให้ สนช.พิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ก่อนเข้าสู่ห้วงเวลาการลงมติรับรอง ซึ่งแน่นอนว่ารอบนี้ก็คงผ่านฉลุย! เหมือน 4 ครั้งก่อน นั่นจะทำให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 พุ่งถึง 3 ล้านล้านบาท
จะว่าไปแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่งบประมาณรายจ่ายฯของไทย พุ่งทะลุ 3 ล้านล้านบาท ในปี 2561 รัฐบาล คสช. ได้ตั้งงบประมาณกลางปี เพิ่มอีก 1.5 แสนล้าน ทำให้งบประมาณเดิมที่ตั้งไว้ 2.9 ล้านบาท พุ่งเป็น 3.05 ล้านล้านบาท
หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสังเกต พร้อมคำถามตัวโตๆ ทำนอง…ทำไม รัฐบาล คสช. ตั้งงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่ 5? มีแผนจะหารายได้มาโปะงบประมาณขาดดุลอย่างไร? ทำไมไม่ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น อย่าง “รายได้รับซ้ำซ้อน” ของเครือข่าย คสช.และนายทหารบางคนออกไป? และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย
ก่อนจะหาคำตอบมาเล่าสู่กันฟัง ลองไปสำรวจงบประมาณรายจ่ายฯปี 2562 กันสักนิด มีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง…ฟังเสียง “โฆษกรัฐบาล”พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่แบ่งการใช้เงินงบประมาณฯปี 2562 จากเดิมที่ส่วนราชการต่างๆ เสนอรวมมา 5 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลตัดส่วนที่ไม่สำคัญและจำเป็นออกไป เหลือเพียง 3 ล้านล้านบาท แยกเป็น…งบรายจ่ายประจำ 2.261 ล้านล้านบาท, งบลงทุน 660,291 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 78,205ล้านบาท ขณะที่ประมาณการรายได้อยู่ที่ 2.55 ล้านล้านบาท จำเป็นต้องตั้งวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลอีก 4.5 แสนล้านบาท
แยกตามยุทธศาสตร์ 7 ด้าน ที่ใช้งบงบประมาณมากสุด คือ ยุทธศาสตร์ความมั่นคง 329,273 ล้านบาท, ด้านการสร้างสามารถการแข่งขันของประเทศ 406,564ล้านบาท, ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 560,896 ล้านบาท, ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตจากภายใน397,501 ล้านบาท, ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 117,266 ล้านบาท, ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 838,388 ล้านบาท และค่าดำเนินการภาครัฐ 350,109 ล้านบาท
ทั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด คือ กระทรวงศึกษาธิการ 489,798 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 373,519 ล้านบาท กระทรวงคลัง 242,846 ล้านบาท
ทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายใต้คาดการณ์ที่ว่า…ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะมีราว 17.573 ล้านล้านบาท
กลับสู่โหมดการวิพากษ์ในบริบท “สื่อ” ตรวจสอบแบบสร้างสรรค์ เพื่อตอบคำถามข้างต้น…เหตุผลที่รัฐบาล คสช.ตั้งงบประมารรายจ่ายฯสูงถึง 3 ล้านล้านบาท เพราะปีก่อนหน้านี้ ก็เคยทะลุมาก่อนแล้ว จึงมิใช่เรื่องใหม่ ส่วนเหตุผลที่ต้องเพิ่ม โดยเฉพาะงบประมาณด้านความมั่นคง นั่นเพราะ รัฐบาล คสช.มีความจำเป็นต้องเจียดเงินไปชำระเป็นค่าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สั่งซื่อจากต่างประเทศมาก่อนหน้านี้ ทั้ง เรือดำ, เครื่องบินรบ, รถถัง ฯลฯ
กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การกำดับดูแลของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา “พี่รองแห่งบูรพาพยัคฆ์” กับภารกิจ…แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำฯ รวมถึงภารกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ จำเป็นอยู่เองที่กระทรวงแห่งนี้ สมควรจะได้รับงบประมาณรวมในสัดส่วนสูงอย่างที่เห็น…ตรงนี้ พอเข้าใจได้! แต่กับงบประมาณด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ (838,388 ล้านบาท) และค่าดำเนินการภาครัฐ (350,109 ล้านบาท) มันสูงเกินไปหรือไม่? และมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องตั้งงบประมาณเอาไว้สูงมากมายขนาดนั้น?
โดยเฉพาะกับงบกลาง 468,032 ล้านบาท ซึ่งเป็นอำนาจตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ที่จะใช้จ่ายงบประมาณในส่วนนี้ โดยไม่กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า…จะเอาไปใช้กับภารกิจใด? กับใคร? ที่ไหน? เมื่อไหร่? และอย่างไร?
ทั้งที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีนัก แกนนำนักธุรกิจ อย่าง…นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ออกมาบอกเองว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.5% แต่เป็นการขยายแบบ “กระจุกตัว” ไม่มีการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก
แปลความได้ว่า…ที่เศรษฐกิจขยายตัวนั้น มันไป “กระจุกตัว” อยู่กับธุรกิจของเอกชนรายใหญ่เพียงไม่กี่ตระกูล ขณะที่รายได้และผลกำไรของธุรกิจระดับรองลงมา โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ประกอบในประเทศ, ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกและรายย่อย รวมถึงของเกษตรกรและมนุษย์เงินเดือน ถือว่ามีรายได้ที่ต่ำมากๆ เรียกว่า…หาได้ไม่พอจ่าย กระทั่ง หลายแห่งประกาศปิดตัว-ปิดกิจการกันไปมากมาย
อย่าแปลกใจ หากจะมีหลายเสียง ทั้งจากนักวิชาการ, ภาคประชาสังคม, สื่อสารมวลชน, นักการเมือง ฯลฯ ทำการวิพากษ์วิจารณ์กันเซ็งแซ่ ทำนอง “ตั้งเอง-เสนอเอง-ใช้เอง” โดยไร้การตรวจสอบและควบคุมจาก สนช. ซึ่งไม่ได้มีพื้นฐานมาจากเสียงของประชาชน ภาพมันจึงออกมาอย่างที่เห็นกัน
ถึงตรงนี้ อายุรัฐบาล คสช. จะสิ้นสุดลงทันทีที่มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ราว ก.พ.2562 ซึ่งนั่นก็เหลือเวลาเพียงแค่ 5 เดือน หลังเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ 1 ต.ค.2562จำเป็นมากแค่ไหน? กับการตั้งงบประมาณรายจ่ายฯที่สูงขนาดนี้ ทั้งที่การจัดเก็บรายได้ ต่ำกว่ารายจ่ายถึง 4.5 แสนล้าน
ต่อเนื่องกันไปกับงบประมาณรายจ่ายฯแต่ละปี นับแต่ปี 2558 – 2562 จะพบว่า…รัฐบาล คสช. ตั้งรวมๆ กันสูงถึงกว่า 14 ล้านล้านบาท ยังไม่นับรวมหนี้สาธารณะเฉพาะส่วนของรัฐบาลอีกกว่า 6.6 ล้านล้านบาท และหนี้ในส่วนของธนาคารแห่งเทศไทยในสัดส่วนใกล้เคียงกัน
ทำให้เกิดคำถาม พร้อมข้อสงสัยที่ว่า…งานนี้ มีใครหวังจะทิ้งทวนกันหรือไม่? อย่างไร?
และจากสถานการณ์ที่ร้อนแรง ท่ามกลางความเป็นไปของบ้านเมือง ที่เริ่มก่อกระแสให้ได้ยินหนาหู ถึงวลี “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” อาจเกิดขึ้นในเร็ววัน จึงน่าสนใจว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ที่ รัฐบาล คสช.ตั้งไว้ถึง 3 ล้านล้านบาทนั้น
พวกเขาจะทันอยู่ใช้เงินก้อนนี้หรือไม่!!!.