สุดยอดสมาร์ทโชห่วย 2563 บทพิสูจน์เคล็ดลับเถ้าแก่ “ตัวจริง”
พร้อมเผยประสบการณ์ค้าขายยุค 4.0 ทำอย่างไร? ให้ ‘อยู่รอด อยู่รุ่ง อยู่รวย’ เพราะมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจค้าปลีกรายย่อย หรือโชห่วย มีมากกว่า 1 ล้านล้านบาท และยังมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อน จีดีพี หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เราไม่อาจมองข้าม หรือยอมละทิ้งธุรกิจประเภทนี้ให้ล้มหายตายจากไปได้
แม็คโคร ในฐานะผู้นำและคู่คิดในการพัฒนาธุรกิจเพื่อผู้ประกอบการ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของโชห่วยไทย จึงจัด “โครงการสมาร์ทโชห่วย” กิจกรรมประกวดเฟ้นหาสุดยอดเจ้าของร้านโชห่วยประจำปี 2563 ที่คัดเลือกจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา
คู่คิดพัฒนาธุรกิจโชห่วยไทย
“วีระชัย ตู้วชิรกุล” ผู้จัดการอาวุโส แม็คโคร 4.0 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการมิตรแท้โชห่วย และ ประธานการจัดงาน ตลาดนัดโชห่วย ครั้งที่ ๑๒ กล่าวว่า “โครงการสมาร์ทโชห่วย เกิดจากแนวคิดการพัฒนาศักยภาพร้านค้ารายย่อย ด้วยการเรียนรู้จากการปรับปรุง พัฒนาร้านค้า ให้อยู่รอด อยู่รุ่ง อยู่รวย ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและปัจจัยรุมเร้ามากมาย”
การตัดสินผู้ชนะแต่ละภาคประจำปีนี้ จึงไม่ใช่แค่ การพาธุรกิจให้รอด จัดร้านให้เป็นระเบียบสวยงาม แต่ต้องปรับตัวให้เป็น “สมาร์ทโชห่วย” ที่อาจมีลักษณะในการดำเนินธุรกิจแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ตามพฤติกรรมลูกค้า ทำเลที่ตั้ง รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ที่เกิดขึ้น
“ปีนี้มีผู้ส่งแผนงานเข้าประกวดกว่า 100 แผนงาน เรานำมาคัดเลือก เพื่อเฟ้นหาต้นแบบสมาร์ทโชห่วย 4 ภาค โดยใช้เกณฑ์การตัดสินคือ การปรับตัวให้เป็นสมาร์ทโชห่วยให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจโชห่วย แม้แผนงานต่างๆ ที่ส่งมาประกวดจะมีฐานข้อมูลแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็ค้นพบแนวทางการเติบโตในแบบของตัวเองได้” วีระชัย กล่าว
การปรับตัวของ “ตัวจริง”
พื้นที่ที่ได้ชื่อว่ามี “ร้านโชห่วย”มากที่สุดในประเทศ ก็คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น การปรับตัวของร้านค้าเล็กๆ ที่แฝงตัวอยู่ในแดนดินถิ่นอีสาน จึงน่าสนใจยิ่ง
ธนกฤต ทิพยเทอดธนา เจ้าของร้าน 7-นายมินิมาร์ท จ.สุรินทร์ ผู้ชนะเลิศโครงการสมาร์ทโชห่วย ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลือกนำ ครัวชุมชน ตู้แช่ อาหารแช่แข็ง มาสร้างความแตกต่าง ร่วมด้วยการสร้างสรรค์ตลาดสำหรับขายสินค้าพื้นบ้านจากชุมชนเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน ผสานกับการนำเทคโนโลยีมาสื่อสารการตลาด เพิ่มช่องทางชำระเงิน และไม่พลาดโอกาสสร้างยอดขายเพิ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
“ครัวชุมชน สร้างความแตกต่างให้ร้านเรามาก ทางร้านเข้าร่วมโครงการกับแม็คโครมา 3 ปีกว่าแล้ว มีตู้ครัวชุมชนซึ่งเป็นตู้แช่ อาหารแช่แข็ง ปัจจุบันมีอยู่ 6 ตู้แล้ว เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น ที่สำคัญเราได้ช่วยเหลือชุมชนด้วยการนำสินค้าของชาวบ้าน อย่าง ผัก ผลไม้ ไข่เป็ด ขนมพื้นบ้าน มาช่วยขาย และโครงการตลาดน้อย ที่คิดทำขึ้นเพื่อเปิดจำหน่ายสินค้าชุมชนโดยเฉพาะอีก”
ไม่เพียงเท่านั้น “ธนกฤต” ยังนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาประยุกต์ใช้กับการทำตลาด ส่งเสริมการขายรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์ มีการ Live สดผ่านเครือข่ายลูกค้าในเฟซบุ้ก มีแอปพลิเคชั่นไลน์สำหรับรับออเดอร์ เพิ่มช่องทางชำระเงินนอกเหนือจากจ่ายเงินสด เพิ่มบริการเสริมประเภทโอน จ่าย เติมเงิน ปริ้นต์เอกสาร รวมถึงลงทะเบียนเป็นร้านที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
สารพัดบริการครบจบในที่เดียว ทำให้ร้าน 7-นายมินิมาร์ท มีคนเข้าออกร้านไม่ขาด มีรายได้เฉลี่ย 50,000 บาทต่อวัน
ด้าน “เจษฎา พงศ์วิศิน” เจ้าของร้านไทยสงวน จังหวัดระยอง ผู้ชนะเลิศภาคกลาง บอกเล่าถึงจุดเด่น กลยุทธ์สู่ชัยชนะ คือ ไม่หยุดที่จะพัฒนาร้านอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความหลากหลายเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ที่น่าสนใจคือ เขาขยันศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ Big data รวมถึงการหาเครื่องมือจัดการร้าน และค้นหาความต้องการของลูกค้าในละแวกร้านให้เจอ โดยยังคงเป้าหมายการจำหน่ายสินค้าในราคาถูกอยู่
ส่วน ทายาทรุ่นที่ 3 ที่มารับไม้ต่อธุรกิจโชห่วยจากครอบครัวอย่าง “วรลักษณ์ สิละศรชัย” จากร้านแม่นารีมินิมาร์ท จังหวัดกำแพงเพชร ผู้ชนะเลิศภาคเหนือ แม้จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อการขายแล้ว แต่ก็ยังไม่ละทิ้งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ผสานกับการมีทัศนคติที่ดี ในการพลิกมุมมอง มองวิกฤติให้เป็นโอกาส
“เราต้องมองให้ไกล รู้ให้ทัน แล้วนำมาปรับให้เข้ากับพฤติกรรม หรือสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกจุดเด่นของร้านเราก็คือ การสร้างระบบ POS ขึ้นมาเอง เพราะคิดว่าจะตอบสนองความต้องการของเราได้ตรงจุด แก้ไขปรับปรุงได้ด้วยตัวเอง ซึ่งระบบ POS จะช่วยการจัดการหน้าร้านหลังร้านได้อย่างเป็นระบบ สะดวกรวดเร็ว ใช้งานได้ทุกคน ทำให้มีความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา”
ขณะที่ “ปัญญา สวนส้ม” เจ้าของร้านน้าเณรออนไลน์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ชนะเลิศจากภาคใต้ ที่คว้าชัยมาด้วยโมเดลการเป็นร้านโชห่วยออนไลน์เต็มรูปแบบ มีระบบสมาชิก ใช้เทคโนโลยีในการสั่งของ จ่ายเงิน และบริการที่รองรับความต้องการลูกค้าในชุมชน
“เราไม่เน้นการขายแข่ง เราเน้นขายง่าย เข้าถึงลูกค้าได้ไว ทันสมัย จริงใจกับลูกค้า ผ่านการปรับร้านให้เป็นร้านโชห่วยออนไลน์เต็มรูปแบบ ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ บริการเติมเงินออนไลน์ ชำระค่าสาธารณูปโภค ประกันสังคม ถ่ายเอกสาร ส่งด่วน EMS ส่งแก๊ส และมีหลายช่องทางการชำระเงินโดยไม่มีค่าธรรมเนียม ใช้ความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าทุกรายให้เป็นจุดแข็งในการคัดสรรสินค้ามาจำหน่าย เพิ่มบริการจัดส่งบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ที่สำคัญมากๆ คือต้องจดทะเบียนการค้า เสียภาษีให้ถูกต้อง เพื่อการพัฒนาศักยภาพของร้านค้าเล็กๆ ไม่ให้มีขีดจำกัด และขยับเข้าสู่การเป็น ร้านโชห่วยที่ไม่ธรรมดาอีกต่อไป”
จากที่พึ่งยามยากในชุมชน สู่ โชห่วยรวยยั่งยืน
“วีระชัย” กล่าวอีกว่า “สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการโครงการสมาร์ทโชห่วยคือ โชห่วยไทยปรับตัวได้นะ เริ่มจากอะไรที่ง่าย ลงทุนน้อย ใช้ได้เร็ว เชื่อมโยงสิ่งที่มีอยู่มาพัฒนาร้าน การขนส่งในชุมชน การใช้เทคโนโลยี โชห่วยต้องรู้จักลูกค้าในชุมชนและปรับตัวตามความต้องการของลูกค้าให้เท่าทัน แล้วธุรกิจเล็กๆ ของคุณก็จะกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างให้ชุมชน”
“จากโมเดลความสำเร็จของผู้ชนะในแต่ละภาค แม็คโครจะนำมาพัฒนาประยุกต์เป็นองค์ความรู้อันมีค่าให้กับโชห่วยรายอื่นๆ ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวไปสู่การเป็นโชห่วยที่ ‘อยู่รอด อยู่รุ่ง อยู่รวย’ หมายความว่า สามารถดำเนินธุรกิจจนมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว จากนั้นมีเหลือเงินเก็บสร้างความมั่นคงในชีวิต และนำมาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวย ”
เมื่อร้านเล็กๆ ในชุมชนมีความแข็งแกร่ง เป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่างเหนียวแน่นและยาวนานเช่นนี้แล้ว โอกาสที่ธุรกิจประเภทนี้จะล้มหายตายจาก ก็คงเป็นไปได้ยาก ที่สำคัญ เป็นการเพิ่มพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งมั่นคง ผ่านการดำเนินไปของร้านโชห่วย ซึ่งมีอยู่กว่า 500,000 รายทั่วประเทศ (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)