มหิดล – ม.เกียวโต จัดประชุม 18 ประเทศ
เรื่องการศึกษาและการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกในภาคพื้นเอเชีย (The Kyoto University International Symposium 2020 on Education and Research in Global Environmental Studies in Asia) จัดโดย มหาวิทยาลัยเกียวโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะสาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนานาชาติ
ผ่านโปรแกรมประชุมทางไกล Zoom Meeting เมื่อ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 63 มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 381 คน จาก 71 มหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำเข้าร่วมงาน ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ไต้หวัน อินเดีย จีน ลาว พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปากีสถาน แทนซาเนีย เวียดนาม ประเทศไทย เป็นต้น
ศาสตราจารย์ นางาฮิโร มินาโตะ (Nagahiro Minato) อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกียวโต และ ศาสตราจารย์ นพ. บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา โดยสะท้อนให้เห็นถึงการก้าวสู่ทศวรรษใหม่ของความร่วมมือของประชาคม ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำทางการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ท่ามกลางความท้าทายของดิจิทัลดิสรัพชั่นและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายภูมิภาคโลก ในงานประชุมนี้มีการแบ่งปันประสบการณ์การสัมมนาของนักวิจัยรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการศึกษาและวิจัยสิ่งแวดล้อมโลกใน 4 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย 1. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science & Technology) 2. การเกษตรและชีวภาพ (Agriculture & Biology) 3. การวางแผนผังพัฒนาเมืองและชนบท (Urban & Rural Planning) 4. นโยบายและเศรษฐกิจ (Policy & Economics) ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาและวิจัยในอนาคต พร้อมทั้งนำเสนอแผนสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการศึกษาและการวิจัย และนำเสนอการอภิปรายข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมประชุมและประชาคมโลก
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กว่า 10 ปี ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประสานความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นอย่างเข้มแข็งกับมหาวิทยาลัยเกียวโตมาตลอด โดยเริ่มจากปี 2007 เป็นต้นมา ซึ่งได้มีความร่วมมือทางด้านการวิจัยและการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ ระหว่างคณะวิศวกรรมกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Graduate School of Global Environmental Studies (GSGES), Kyoto University และในปัจจุบัน มีหลักสูตรร่วมกันระหว่าง 2 มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนแบบ Double Degree โดยหลักสูตรแรกที่เปิดในปี 2017 คือ หลักสูตรนานาชาติวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหลักสูตรการศึกษาสิ่งแวดล้อมโลกของมหาวิทยาลัยเกียวโต นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง Kyoto University On-Site Laboratory ขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2019 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นหุ้นส่วนในความร่วมมือด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษา งานวิจัย นวัตกรรมในประเทศไทย และเป็นการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก
ไฮไลต์ของการประชุมครั้งนี้ คือ การใช้เวทีสัมมนาเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการการรับมือโควิด-19 ในประเทศไทย (Post COVID-19 Countermeasures in Education and Research) มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ หัวข้อ Moving Teaching Online – Kyoto University’s Response to COVID-19 โดย ศาสตราจารย์ ฮาจิเมะ คิตะ (Hajime Kita) ,ความสำเร็จของประเทศไทยในการจัดการโควิด-19 ในหัวข้อ โควิด19 : ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาทางการแพทย์และการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา (COVID-19 : Catalyst of the Change in Medical Education and Technological Development) โดย ศ.ดร. นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ในอดีต เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล ถูกจำกัด หากนักศึกษาแพทย์ต้องการศึกษาจะต้องศึกษาในสถานที่ที่จัดไว้เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้อย่างจริงจัง ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย และนำมาใช้ร่วมกับการศึกษา โดยนักเรียนสามารถเข้าร่วมชั้นเรียนได้ทั้ง แบบ Synchronous and Asynchronous ได้ทั้งแบบออนไลน์และแบบออนดีมานด์ มีการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกที่น่าสนใจบางอย่าง เช่น Interactive Multimedia, Interactive Video ซึ่งในอนาคตอันใกล้ ผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างกรมการแพทย์และกองสารสนเทศปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์การเรียนรู้ จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้าง “Adaptive Learning” ซึ่งจะช่วยปรับปรุงคุณภาพยกระดับการศึกษาทางการแพทย์ของประเทศไทยสู่ระดับโลก
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังสร้างนวัตกรรมและหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อฝ่าวิกฤติโควิด-19 ด้วย เช่น หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ DoctoSight 1 และ 2 ช่วยลำเลียงขนส่งและดูแลผู้ป่วย , หุ่นยนต์ Foodie จัดส่งอาหารและยาไปยังคนไข้ในโรงพยาบาล , หุ่นยนต์ Wastie เก็บขยะติดเชื้อใน รพ. ลดภาระความเสี่ยงของบุคลากรแพทย์ , หุ่นยนต์ AI-Immunizer ทดสอบวัคซีนอัจฉริยะ , Jubjai Bot แชทบอทระบบหุ่นยนต์เอไอ เพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า , หุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกล เป็นต้น ในอนาคต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะทำงานร่วมกัน ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเชื่อมโยงการให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพหรือข้อมูลการศึกษา ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะทำการตั้งค่าอัลกอริทึมของข้อมูลและการประยุกต์ใช้ทางเทคนิค AI ด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะร่วมพัฒนาชีวิตวิถีใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ดังนั้น การระบาดของ COVID-19 จึงเป็นตัวเร่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาทางการแพทย์และเทคโนโลยีของโลก