ศรีชล โกลฟส์ ทุ่ม 8 พันล. ผุดรง.ถุงมือยางป้อนตลาดโลก
กลุ่มทุนไทย “ศรีชล โกลฟส์” ผุดโรงงานผลิตถุงมือยางในเขตอีอีซี หวังป้อนความต้องการตลาดจากทั่วโลก เผย! ทุ่มเงิน 8 พันล้านบาท สร้างโรงงานเฟสแรก รองรับออร์เดอร์ได้มากถึง 8 พันล้านคู่/ปี ก่อนจะผุดเฟส 2 ตามมา ด้วยกำลังการผลิตเพิ่มอีก 2 เท่าตัว คาด! คลอดสินค้าล็อตแรก พ.ค.64
ในทางการเมืองและการทหาร…สงครามอาจสร้างวีรบุรุษ แต่กับธุรกิจแล้ว…ทุกๆ สภาวะ คือ “โอกาส” หากพวกเขามองเห็นมัน!
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้คนทั่วโลกต่างประสบชะตาเดียวกัน นั่นคือ…ความตาย! หากมิอาจป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสตัวร้ายนี้ได้
หลายธุรกิจการค้า หลากอุตสาหกรรม ล้วนได้รับผลกระด้านลบจากไวรัสโควิด-19 แต่ในวิกฤต ย่อมมีโอกาสแฝงไว้…
ระหว่างที่รัฐบาลทั่วโลก กำลังประกาศสงครามการสู้รบกับไวรัสโควิด-19 สถานการณ์นี้…กลับเป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของรัฐบาล และหน่วยงานด้านสาธารณสุข รวมถึงอีกหลายๆ หน่ายงาน ทั้งจากรัฐและเอกชน
จนถุงมือยางที่มีในตลาดโลก ไม่อาจรองรับปริมาณความต้องการที่มีเป็นจำนวนมาก นับเป็นหลายหมื่นหลายแสนล้านคู่…ได้
ยิ่งมีข่าว การปิดตัวของ 28 โรงงานผู้ผลิตถุงมือยางในประเทศมาเลเซีย เมื่อสัปดาห์ก่อน ยิ่งก่อเกิดกระแสความต้องการถุงมือยาง สวนทางกับซัพพลาย (การผลิต) ที่หดหายไปเป็นจำนวนมหาศาล หลังพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของคนงานในโรงงานดังกล่าว รวมกันราว 2,000 คน
และในกลุ่มผู้ผลิตถุงมือยางจากประเทศมาเลเซีย พบว่า…มีมากถึง 4 ใน 5 ราย ที่เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดของโลก
วิกฤตรอบนี้ กลายเป็น “โอกาสทอง” ของ บริษัท ศรีชล โกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตถุงมือยางหน้าใหม่ ที่เพิ่งแถลงข่าวเปิดตัว ณ ที่ตั้งโรงงาน บริเวณเขต ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2563
นายโสภณ เรืองกิตติกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีชล โกลฟส์ฯ กล่าวว่า เบื้องต้นบริษัทฯเตรียมจะก่อสร้างโรงงาน บนพื้นที่ของโครงการในเฟส 1 ราว 60 ไร่ จากทั้งหมด 140 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถ.มอเตอร์เวย์สาย 7 จ.ระยอง กม.ที่ 84 ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง
รวมการสร้างโรงงาน พร้อมติดตั้งเครื่องจักร ประกอบด้วย…อาคารสำนักงาน 1 หลัง, อาคารห้องแล็ป 1 หลัง,โรงงานผลิต 5 หลัง, อาคารผลิตน้ำดี 1 หลัง และอาคารเก็บสินค้าอีก 1 หลัง ที่สำคัญ บริษัทฯมีแหล่งน้ำอยู่ในพื้นที่ตั้งของโรงงานฯ เพื่อรองรับการผลิตถุงมือยางที่ต้องใช้น้ำในปริมาณที่สูงมาก
ด้วยงบก่อสร้างในเฟสแรกนี้ ราว 8,000 ล้านบาท ภายใต้กำลังการผลิตถุงมือยางจาก 50 ไลน์การผลิต รวมกันมากถึง 160 ล้านกล่อง หรือ 1.6 หมื่นล้านชิ้น (8 พันล้านคู่) ต่อปี
ทั้งนี้ บริษัทฯได้เริ่มก่อสร้างโรงงานตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าจะดำเนินการผลิตชุดแรกในราวเดือน พ.ค.2564 จากนั้น จะดำเนินการก่อสร้างในโครงการเฟสแรกแล้วเสร็จทั้งหมดในช่วงเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน
“ขณะนี้ มีลูกค้าต่างประเทศสนใจติดต่อเข้ามาคุยกันบ้างแล้ว แต่ละรายมีความต้องการราว 300-500 ล้านชิ้น ซึ่งถุงมือยางที่บริษัทฯผลิตได้ จะมี 2 ชนิด คือ ถุงมือยางธรรมชาติ ที่นิยมใช้ในวงการแพทย์ เพราะยืดหยุ่น สวมใส่สบาย เหมาะกับงานที่ต้องการความละเอียด มีความแม่นยำและไวต่อการสัมผัส อีกชนิดคือ ถุงมือยางไนไตร ซึ่งเป็นยางสังเคราะห์จากปิโตรเลียมและสารเคมี ซึ่งเหมาะสมกับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ และสามารถใช้ได้ทุกคน เพราะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้โปรตีนเหมือนถุงมือยางธรรมชาติ”
ไม่เพียงแค่นั้น นายโสภณ ยังบอกด้วยว่า บริษัทฯยังมีเป้าหมายจะสร้างโรงงานผลิตถุงมือยางในเฟสที่ 2 บนพื้นที่ที่เหลืออีกราว 80 ไร่ ด้วยงบลงทุนและกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัว โดยตั้งเป้าจะเพื่อกำลังการผลิตถุงมือยางทั้ง 2 ชนิด รองรับคำสั่งซื้อจากทั่วโลก อีกไม่ต่ำกว่า 320 ล้านกล่อง หรือ 3.2 หมื่นล้านชิ้น (1.6 หมื่นล้านคู่) ต่อปี
โดยคาดว่า…จะเริ่มดำเนินโครงการในเฟส 2 หลังจากเฟสแรกดำเนินการแล้วเสร็จ และมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งเร็วสุดน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565
ถึงตรงนี้…ต้องบอกว่า นายโสภณ และ บริษัท ศรีชล โกลฟส์ฯ มองเห็นโอกาสและสร้างความพร้อม รองรับโอกาสที่ว่านี้ ได้อย่างลงตัวและเท่าทันช่วงเวลาที่อาจเรียกได้ว่า พีคที่สุด! ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในโลกเช่นกัน
โอกาสจึงมักตกเป็นของคนที่มองเห็นมันอยู่เสมอ!.