โรงงานยาสูบขาดทุนหนัก 5 พันล้าน
“ดาวน้อย” โวยแหลก ยันโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ทำให้โรงงานยาสูบปีนี้ ขาดทุนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 5 พันล้านบาท ขณะที่สภาพคล่องจะเริ่มติดลบในเดือนพ.ค.
“พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิตใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2560 ส่งผลให้ราคาบุหรี่โดยเฉพาะบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานยาสูบต้องปรับราคาขายปลีกสูง ขึ้นตั้งแต่ 3-20 บาทต่อซอง ขณะที่บุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าปรับราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และบางยี่ห้อปรับราคาขายลดลง ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาด ณ เดือนก.พ.ที่ผ่านมา เหลือเพียง 55-56%” นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบโรงงานยาสูบ แถลงข่าวสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสเลี้ยงสรรสื่อมวลชนประจำปี2561 และกล่าวว่า
“สงครามราคาบุหรี่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เราสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ ทำให้บุหรี่ต่างประเทศปรับราคาลดเหลือซองละ 60 บาท ส่วนบุหรี่ไทยที่เคยขายถูกซองละ 35-40 บาทต้องปรับราคาขึ้นโดยจำหน่ายซองละ 60 บาทเท่ากับบุหรี่ต่างประเทศ ผู้บริโภคไม่นิยมบุหรี่ไทย”
นางสาวดาวน้อย กล่าวว่า ในปีนี้ กำลังการผลิตบุหรี่ของโรงงานยาสูบจะอยู่ที่ 18,000 ล้านมวนต่อปี จากกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 65,000 ล้านมวนต่อปี หลังจากเปิดโรงานยาสูบแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการ คลังและโรง งานยาสูบคาดการณ์ผิดพลาดไป โดยเฉพาะโรงานยาสูบแห่งใหม่ ต้องจ่ายค่าเครื่องจักรเพียงอย่างเดียวมูลค่าถึง 16,000 ล้าน บาท โดยโรงงานยาสูบนำกำไรแต่ละปีมาทยอยจ่ายเป็นค่าเครื่องจักร ซึ่งยังเหลือยอดค้างจ่าย 7,000 ล้านบาท โดยในปี2561 มีสัญญาผูกพันต้องจ่ายอีกประมาณ 2,900 ล้านบาท
นอจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งถือเป็นต้นทุนของโรงงานยาสูบหลักๆ 4 เรื่องคือ 1.ค่าใช้จ่ายในการย้ายโรงงานจากถนนพระ ราม 4 ไปยังโรงงานใหม่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2.ค่าใช้จ่ายในการดูแลโรงพยาบาลยาสูบ 3.การสนับสนุนนโยบายรัฐด้วยการรับซื้อใบยาสูบสูงกว่าราคาตลาด 22 บาทต่อกิโลกรัม และ4.ค่าก่อสร้างสวนเบญจกิติ รวมแล้วเป็นเงินอีก 1,500 ล้านบาท
“ตัวเลขเบื้องต้นที่คำนวณออกมาแล้ว เราพบว่า ปีนี้ โรงงานยาสูบจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโรงงานยาสูบนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี2491 หรือกว่า 70 ปีก โดยประเมินว่าเดือนพ.ค.นี้ สภาพ คล่องจะเริ่มติดลบ ทำให้ต้องกู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่อง เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่ารักษาความปลอดภัยภายในโรงงาน และค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น โดยแต่ละเดือนโรงงานใช้สภาพคล่องเงินสด 4,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันสภาพคล่องใกล้ติดลบแล้ว โดยล่าสุดได้หารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อทำเรื่องขอกู้เงินแล้ว แต่ยังไม่ทราบจำนวน เพราะอยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งเป็นภาพที่ติดลบมากๆ เพราะปีที่แล้ว โรงงานมีกำไรถึง 9,344 ล้านบาท”
นางสาวดาวน้อย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา โรงงานยาสูบได้ปรับตัวให้กับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่การปรับตัวดังกล่าวทำได้ล่าช้าและไม่ทันเกม ทำให้เกิดความผิดพลาด เช่น โรงงานยาสูบแห่งใหม่ หากในอดีตเมื่อ10 ปีที่แล้ว รู้ว่า กำลังการผลิตบุหรี่จะเหลือเพียง 18,000 ล้านมวนต่อปี ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงงานแห่งใหม่ เนื่องจากโรงงานปัจจุบันที่ถนนพระราม 4 ทำ งานเพียง 8 ชั่วโมง ไม่ต้องทำงานนอกเวลา (โอที) ก็ผลิตได้เกิน 18,000 ล้านมวนต่อปีแล้ว อย่างไรก็ตาม โรงงานยาสูบและพนักงานจะร่วมกันฟันฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ให้ได้ ซึ่งล่าสุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติวาระ 3 เห็นชอบให้โรงงานยาสูบมีเป็นนิติบุคคลภายใต้ พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. … ซึ่งจะเปิดโอกาสในโรงงานยาสูบสามารถทำธุรกิจที่นอกเหนือจากการผลิตบุหรี่ได้เช่นรับจ้างรับผลิตบุหรี่เพื่อจำหน่ายในต่างประเทศได้ ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าอื่นได้เช่นกัญชง เป็นต้น ซึ่งเป็นที่สิ่งที่โรงงานยาสูบเรียกร้องมานานกว่า 20 ปี.