การเมือง…ดัชนีวัดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย
ดัชนีชี้วัดระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่พึ่งมีต่อประเทศไทย กลายเป็นต้องอิงแอบต่อภาพความชัดเจนของระบบการเมืองและการปกครอง แทนที่จะเป็นภาพสะท้อนความเข้มแข็งเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย
นับเป็นอีกหนึ่ง “ไทยแลนด์ โอลลี่” ที่คนทั่วโลกต่างเข้าใจตรงกัน ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่ม BMI บริษัทวิจัยในเครือบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ ระบุว่า…หากประเทศไทยเลื่อนการเลือกตั้งออกไปมากเท่าใด ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศมากเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อภาพการเมืองไทยเริ่มมองเห็นความชัดเจนจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ ย่อมส่งผลบวกต่อทัศนคติของนักลงทุนต่างประเทศเหล่านี้ อันเป็นผลมาจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย “กฎหมายลูก” ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยเฉพาะ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ว่า…ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เหมือนที่ก่อนหน้านี้เคยวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ที่มา ส.ว. ก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญเช่นกัน
นั่นเท่ากับว่า การนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งจะเกิดทันทีที่มีการประกาศใช้ ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ แม้ต้องนับรวมระยะเวลาการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา 90 วัน กับระยะเวลาการบริหารจัดการเพื่อเตรียมการเลือกตั้งอีก 150 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
กระนั่น การเลือกตั้งที่คนไทย และนักธุรกิจไทย รวมถึงนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ต่างคาดหวังจะได้เห็น เพื่อเติมเต็มความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่ หรือขยายฐานการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ย่อมต้องเกิดขึ้นภายในปีหน้าอย่างแน่นอน แม้โดยเทคนิคอาจจะมีการขยับเลื่อนระยะเวลา กระทั่งพ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ออกไปบ้าง แต่อย่างไรการเลือกตั้งของไทยก็คงไม่เกินกลางปีหน้าอย่างแน่นอน
สิ่งที่เห็นชัดเจนตามมาคือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย แม้จะปรับตัวลดลงในวันเดียวกัน โดยปิดที่ 1,719.82 จุด ลดลง 7.15 จุด และมีมูลค่าซื้อขาย 57,649.09 ล้านบาท ทว่ายอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ ก็ขยับขึ้นเป็นบวก 135.21 ล้านบาท
นักวิเคราะห์หลายสำนักมองเห็นตรงกันว่า ในวันที่ภาพการเมืองไทยเริ่มคลี่คลายและมองเห็นความชัดเจนมากขึ้น หุ้นใน 4 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มแบงก์และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม จะได้ รับผลบวกมากที่สุด รองลงมาก็คือ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มมีเดีย (โฆษณา) โดยเฉพาะกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง น่า จะได้รับผลบวกตรงๆ เพราะหลังการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลชุดใหม่มักจะผุดโครงการลงทุนครั้งใหม่ของภาครัฐเกิดขึ้นตามมาเป็นจำนวนมาก
หากดูจากโครงการที่คาดว่าภาครัฐจะเปิดทำการประมูลในปี 2561 มากถึง 24 โครงการ รวมมูลค่า 8.2 แสนล้านบาทแล้ว เชื่อว่ามูลค่าโครงการในปี 2562 และปีต่อๆ ไปก็คงไม่ต่างจากเดิมมากนัก ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ย่อมได้จะรับประโยชน์เต็มๆ
อย่างไรก็ดี จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่เติบโตเฉพาะส่วนบนและเกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม ได้ทำให้ธุรกิจระดับ SMEs ลงมา ตกอยู่ในอาการ “ขาลง” ตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ภาพการชะลอการลงทุน การลดจำนวนคนงาน จนถึงการปิดกิจการและเลิกจ้างคนพนักงาน มีให้เห็นโดยตลอด ควบคู่กับภาพถอนการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตของกลุ่มทุนจากต่างประเทศ ที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลพวงจากการมีรัฐบาลทหารปกครองประเทศ นั่นเอง
แต่จากนี้ไป เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้งครั้งใหม่ นั่นก็หมายความว่า อายุของรัฐบาลทหาร ย่อมต้องเหลือน้อยลงไปทุกที โอกาสที่จะเติมเต็มความหวังของคนไทยและนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศต่อความเชื่อมั่นทางการเมือง การปกครอง และระบบเศรษฐกิจไทย ก็ย่อมจะมีสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
หากไม่มีปรากฏการณ์เหนือความคาดหมายใดๆ เช่น การยึดอำนาจซ้ำหรื อซ้อน ถึงขั้นเกิดวิกฤติสงครามกลางเมืองแล้ว การเลือกตั้งที่คนไทยคาดหวังจะได้เห็นย่อมต้องเดินตามโรดแม็พที่ คสช.วางไว้อย่างไม่ต้องสงสัย แม้ในใจ คสช.ยังอาจเสพติด “อำนาจ” และ “ผลประโยชน์” ที่เคยมี
ทว่ากระแสโลกต่อการยอมรับและการมีตัวตนของรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ย่อมเป็นอะไรที่ยาก หาก คสช.คิดจะต่อต้านและขัดขวาง และนั่น เวลาของคนไทย รวมถึงนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ต่อความคาดหวังจะได้เห็นการเลือกตั้งครั้งใหม่ จึงเดินทางมาถึงจุดเลี้ยวครั้งสำคัญ ที่จะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อการเมือง การปกครอง และระบบเศรษฐกิจไทย ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านับจากนี้.