เดินสายไหว้พระ อิ่มบุญที่อ่างทอง
ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หลาย ๆ คนคงมีความคิดอยากจะไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัด หรือเดินสายทำบุญ เพื่อให้จิตใจผ่องใส และเสริมศิริมงคลให้กับชีวิต
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักนึกถึงจังหวัดที่สามารถเดินทางไปกลับได้ภายในวันเดียว ดังนั้น “ อ่างทอง ” จึงน่าจะเป็นจังหวัดที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบอิ่มบุญได้ เพราะนอกจากจะมีวัดที่สวยงามเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นเมืองที่สงบเหมาะกับการมาพักผ่อนอีกด้วย
อ่างทอง เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ภาคกลาง หากจากกรุงเทพมหานครประมาณ 108 กิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับจังหวัดสิงห์บุรี ทิศใต้และทิศตะวันออกติดกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนทิศตะวันตกติดกับจังหวัดสุพรรณบุรี การเดินทางมายังจังหวัดอ่างทอง สามารถมาได้โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 32 หรือสายเอเชีย ซึ่งเป็นเส้นทางที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย โดยนอกเหนือจากนี้ยังสามารถมาได้จากถนนหลวงสายอื่นๆอีกด้วย ส่วนการเดินทางโดยรถประจำทางสามารถขึ้นรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ – อ่างทอง ได้จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) และปัจจุบันมีรถตู้กรุงเทพฯ – อ่างทองเพิ่มเข้ามาเป็นอีกตัวเลือก สำหรับการเดินทางภายในจังหวัดมีรถประจำทางและรถสองแถวคอยให้บริการ
วัดในจังหวัดอ่างทองนั้นมีทั้งวัดในสายมหานิกาย และธรรมยุตินิกาย ซึ่งกระจายอยู่ในแต่ละอำเภอ แต่ละวัดมีประวัติศาสตร์ และจุดเด่นดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะมานมัสการต่างกันไป โดยวัดที่กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ได้แก่
วัดไชโยวรวิหารพระอารามหลวงชั้นโท (วัดเกษไชโย) ตั้งอยู่ที่อำเภอไชโย ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 18 กิโลเมตร วัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาเมื่อใดนั้น ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ได้สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่ขึ้นกลางแจ้ง โดยองค์พระเป็นปูนขาวไม่ได้ปิดทอง ตามศิลปะรัตนโกสินทร์ ขนาดหน้าตัก 8 วา 7 นิ้ว ความสูงเมื่อวัดจากฐานถึงสุดยอดรัศมีได้ 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว ซึ่งในภายหลังรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมานมัสการ และโปรดเกล้าให้มีการปฏิสังขรณ์ขึ้นในปีพ.ศ. 2430 และสร้างขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร เนื่องจากขณะที่สร้างพระวิหารเกิดแรงสั่นสะเทือนทำให้องค์พระพังถล่มลงมา และพระราชทานนามว่าพระมหาพุทธพิมพ์ โดยวัดเกษไชโยได้รับการสถาปนาให้เป็นพระอารมหลวงในปีเดียวกัน สำหรับความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหาพุทธพิมพ์นั้น กล่าวกันว่าหากผู้ที่ก่อกรรมทำชั่วไว้มากเข้าไปใกล้องค์พระ จะเห็นเหมือนกับองค์พระกำลังจะถล่มลงมาทับ
วัดขุนอินทประมูล ตั้งอยู่ที่อำเภอโพธิ์ทอง ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นโดยขุนอินทประมูลผู้เป็นนายอากรในสมัยนั้น ได้ยักยอกเงินหลวงมาสร้างพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่นามว่า พระศรีเมืองทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 50 เมตร และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้รับสั่งถามถึงเงินที่นำมาสร้าง ขุนอินทประมูลกลัวว่ากุศลจะตกไปถึงองค์พระมหากษัตริย์จึงไม่ยอมบอกความจริง ทำให้ถูกเฆี่ยนจนตาย สำหรับพระศรีเมืองทองนั้นเดิมประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่วิหารได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ทำให้กลายเป็นซากปรักหักพังไป ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธไสยาสน์นี้ กล่าวกันว่าหากผู้ใดได้มานมัสการและสัมผัสที่ฝ่าพระบาท จะมีอายุยืนยาว
วัดม่วง ตั้งอยู่ที่อำเภอวิเศษชัยชาญ ห่างจากตัวเมืองจังหวัดอ่างทองประมาณ 8 กิโลเมตร วัดม่วงถูกสร้างขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2230 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ครั้งหนึ่งได้กลายสภาพเป็นวัดร้าง ก่อนจะได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่โดยพระครูวิบูลอาจารคุณ (หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ) ในปีพ.ศ. 2525 ปัจจุบันเป็นวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพื่อมาสักการะพระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ ที่มีขนาดความสูงเทียบเท่าตึก 32 ชั้น อีกทั้งภายในวัดยังมีจุดที่น่าสนใจอื่น อย่างแดนนรกตามพระไตรปิฎก และอุโบสถที่ตั้งอยู่กลางดอกบัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวกันว่าใครที่ได้มานมัสการและสัมผัสที่ปลายนิ้วของพระองค์ใหญ่ของวัดนี้ จะเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน
วัดจันทรังษี ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จะเห็นป้ายทางเข้าวัดห่างจากแยกถนนสายเอเชียเพื่อเข้าเมืองอ่างทองเพียง 1 กิโลเมตร จากนั้นเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร วัดแห่งนี้มีพื้นที่อยู่ 2 ฝั่งถนน ฝั่งหนึ่งจะประดิษฐานพระพุทธรูปที่ประชาชนเรียกว่า “หลวงพ่อโยก” ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารที่ประดิษฐานรูปหล่อพระมงคลเทพมุณี (หลวงพ่อสด)พระพุทธรูปโลหะ องค์ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดหน้าตัก 6 เมตร 9 นิ้ว สูง 9.9 เมตร และองค์สมมุติพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวรเจ้าแม่กวนอิมปางพันมือ ที่ทำจากไม้หอม ขนาดสูง 5 เมตร 8 นิ้ว ที่อัญเชิญมาจากประเทศจีน เมื่อปีพ.ศ. 2522 กล่าวกันว่าใครที่ได้มานมัสการและสัมผัสที่ฐานของหลวงพ่อสด จะสุขภาพแข็งแรง และมีเงินสดใช้ไม่ขาดมือ
วัดป่าโมกวรวิหาร ตั้งอยู่ที่อำเภอป่าโมก ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 18 กิโลเมตร ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ภายในวัดมีพระวิหารซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์แบบก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร เล่าขานกันมาว่าพระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาแล้วมาจมอยู่หน้าวัด ชาวบ้านจึงได้ทำการบวงสรวงแล้วนำขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ และมีเรื่องเล่าอีกว่าพระพุทธรูปองค์นี้พูดได้ โดยได้บอกสูตรยาสมุนไพรรักษาโรคให้กับผู้มานมัสการ ซึ่งมีพยานทั้งพระและฆราวาสจนเป็นที่เลื่องลือ นอกจากพระพุทธไสยาสน์แล้ว วัดแห่งนี้ยังมี “ วิหารเขียน ” ซึ่งเป็นวิหารที่มีมณฑปพระพุทธบาท 4 รอย และหอไตร อีกทั้งตามพงศาวดารได้กล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เสด็จมาชุมนุมพล และถวายสักการะพระพุทธรูปที่นี่ก่อนจะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชาอีกด้วย
นอกเหนือจาก 5 วัดยอดนิยมนี้แล้ว จังหวัดอ่างทองยังมีวัด และสถานที่สำคัญให้เยี่ยมชมอีกหลายแห่ง ซึ่งหากใครที่สนใจอาจศึกษาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของจังหวัดอ่างทอง หรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในประเทศไทยอื่น ๆ แล้วจะรู้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ แท้จริงแล้วอยู่ใกล้นิดเดียว