ผลประกอบการ บางจาก 9 เดือน ขาดทุน 7,219 ลบ.
บางจาก เผยผลประกอบการ ไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นหลังโควิด-19เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ 9 เดือนแรก ขาดทุนสุทธิ 7,219 ล้านบาท
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยผลการดำเนินงานไตรมาส3/2563 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 33,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA 2,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 145 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 29เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี Inventory Gain 272 ล้านบาท (รวมกลับรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV) 26 ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำส่งผลกระทบต่อความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ของบริษัทร่วม OKEA ทำให้มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 1,003 ล้านบาท ทำให้ไตรมาสนี้มีการขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 647 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 66 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 275 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ไตรมาส 3/2563 ว่ามีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัว หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น แต่หากเทียบกับปีก่อน ความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างมากและยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่จากโควิด-19 ขณะที่ผลดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ชีวภาพยังคงเติบโตต่อเนื่อง ช่วยลดความผันผวนของผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ”
ส่วนผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2563บริษัท บางจากฯ มีรายได้ 103,317 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA 1,354 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มี Operating EBITDA 6,407 ล้านบาท โดยมี Inventory Loss 4,887 ล้านบาท (รวมขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV) 28 ล้านบาท) และมีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ 2,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งการด้อยค่าตามมาตรฐาน TFRS 9 จำนวน 913 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรก มีการขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 7,219ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.59 บาท
มแนวโน้มราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกยังคงทรงตัวและมีความผันผวนจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสCOVID-19 ระลอก 2 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป จนทำให้ต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง คาดว่าจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์การใช้น้ำมันชะลอตัวลง เป็นปัจจัยกดดันให้ค่าการกลั่นทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งกระทบกับธุรกิจโรงกลั่น ขณะที่กลุ่มธุรกิจการตลาดมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศเริ่มฟื้นตัว จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ
นอกจากนี้มาตรการด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศวันหยุดพิเศษ หรือนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ คาดว่าจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี2564 จะสามารถกลับมาขยายตัวได้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัว การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว และการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ด้านกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ผลการดำเนินงานเติบโตเพิ่มขึ้นจากการที่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ได้ขยายการลงทุนในโครงการต่างๆ ทำให้มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 78 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นร้อยละ 227 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยหลักๆ มาจากการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว ช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วง High Season ของการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ ประกอบกับการเริ่มรับรู้รายได้จากการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยจำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 20 เมกกะวัตต์ โดยการลงทุนนี้ช่วยชดเชยผลกระทบจากการเข้าสู่ฤดูฝน
นอกจากนี้ ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเนื่องจากไม่มีการหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่น และมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้น
ส่วนกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในไตรมาส 3/2563 มี EBITDA รวม 390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 94 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว
โดยธุรกิจไบโอดีเซล มีกำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นร้อยละ 146 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบได้ดีขึ้น มีปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ B100 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น และจากการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B10 ที่เพิ่มขึ้นจากการกำหนดให้น้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน
ด้าน ธุรกิจเอทานอล ผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอทานอลที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายน้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์ของบริษัทที่ปรับเพิ่มขึ้น หลังการเปิดตัวแก๊สโซฮอล์ S EVO Family