หกโมงเช้าพรุ่งนี้ ลุ้นรับสิทธิใหม่ “คนละครึ่ง”
หกโมงเช้า พรุ่งนี้ (11-11) อย่าลืม! ใช้สิทธิลงทะเบียนในโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ยังมีเหลือให้คน 2.3 ล้านคนได้ลุ้น แนะหากมีรายได้ไม่เกิน 5 แสนบาท/ปี ควรลงทะเบียนรับสิทธิ์นี้ ล่าสุด! พบร้านค้าร่วมโครงการ กว่า 5.7 แสนแห่ง ขณะที่ผู้ใช้สิทธิ แต่ 7.4 ล้านคน มียอดการใช้จ่ายสะสมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท
11-11 : หกโมงเช้า…ทันทีที่เสียงระฆังดังบอกเวลา 06.00 น. ของเช้าวันพรุ่งนี้…11 พ.ย.2563
นั่นคือ…สัญญาณแรกของการเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” รอบใหม่ ที่ “รองโฆษกกระทรวงการคลัง” นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า…มีรวมกัน 2.3 ล้านสิทธิ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนจนถึงเวลา 23.00 น. ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com
ผู้ที่จะลงทะเบียนรับสิทธิฯ จะต้องไม่เคยลงทะเบียนในโครงการนี้มาก่อน และต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานตามที่กระทรวงการคลังระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนจะเต็มสิทธิที่เหลือ 2.3 ล้านสิทธิหรือไม่? ต้องลุ้น!
เว็บไซต์ AEC10NEWS เคยเขียนถึงเอาไว้…หากใครก็ตาม ที่มีรายได้ไม่เกิน 5 แสนบาท ที่มีฐานอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องจ่ายให้รัฐ ร้อยละ 10 ล่ะก็…
ควรเลือกสิทธิในโครงการ “คนละครึ่ง” เพราะเมื่อคำนวณผลประโยชน์ที่ได้รับ กรณีใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท ตามสิทธิของอีกโครงการ นั่นคือ “ช้อปดีมีคืน” จะได้รับเงินคืนในอัตราเดียวกับโครงการ “คนละครึ่ง” กล่าวคือ 3,000 บาท
แต่เป็น 3,000 บาท ที่ใช้จ่ายเท่าใด? (ไม่เกินวันละ 150 บาท) ภาครัฐก็จะจ่ายเพิ่มให้ในสัดส่วนเท่ากัน ในวันนั้นเลย ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ต้องชำระภาษีฯ ในช่วงต้นปีหน้า เหมือนกับสิทธิใน โครงการ “ช้อปดีมีคืน”
ยกเว้น! มีรายได้เกิน 5 แสนบาท ที่มีฐานอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องจ่ายให้รัฐ ตั้งแต่ร้อยละ 15 ขึ้นไป…
คนกลุ่มนี้…สมควรจะสละสิทธิในโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อไปใช้สิทธิในโครงการ “ช้อปดีมีคืน” เพราะได้รับผลประโยชน์มากกว่า…
ที่ต้องพูดเรื่องนี้ เพราะ…ทุกคนจะเลือกใช้สิทธิในโครงการใดโครงการหนึ่งได้เท่านั้น
เอาเป็นว่า…หกโมงเช้า วันพรุ่งนี้ (11-11) ใครที่เคยหลุดสิทธิ เพราะลงทะเบียนไม่ผ่าน หรือยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน ก็ไม่ควรพลาดโอกาสดีๆ ในวันดีๆ…
สำหรับความคืบหน้า โครงการ “คนละครึ่ง” ล่าสุด ณ เวลา 12.00 น. วันที่ 10 พ.ย. พบว่า มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5.7 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิ 7,387,647 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 11,021.55 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 5,618.27 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 5,403.28 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 212 บาทต่อครั้ง โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่.