เชือดไก่ เฉือนลิง! สยบกลโกง “คนละครึ่ง”
เปิดกลโกง “คนละครึ่ง” ผลพวงด้านลบของ “เงินอิเล็กทรอนิกส์” ชี้! หากภาครัฐ ไม่เอาจริง! “เชือดไก่…เฉือนลิง” ให้เหล่าคนโกงดู ไม่แน่! คนไทยอาจมีภาระหนี้เพิ่ม สุดอึ้ง! หลังมีข่าวคลังแจ้งจับ 3 ร้านค้าแก๊งโกง พบคนแห่โทรสอบถามที่ ก.คลัง กันอึงมี่ หวั่นตกเป็นเหยื่อกระบวนการผิด กม.
ท่ามกลางปัญหา “กลฉ้อฉล” ของโครงการ “คนละครึ่ง” ที่รัฐบาล เปิดให้คนไทย ทั้งในซีกร้านค้า (ผู้ขาย) และประชาชน (ผู้ซื้อ) ลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com เมื่อช่วงต้นและกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
นับเนื่องจนถึงช่วงเที่ยงของวันที่ 4 พ.ย.2563 พบว่า…มีคนไทย 10 ล้านคน และร้านค้ากว่า 4 แสนแห่ง เข้าร่วมโครงการฯ โดยมียอดใช้จ่ายสะสม 5,815.37 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 2,966.46 ล้านบาท และรัฐช่วยจ่ายอีก 2,848.91 ล้านบาท
“ในดีย่อมมีเสียปะปน” ถือเป็นเรื่องปกติ! เช่นกัน…กับ โครงการ “คนละครึ่ง” ก็มีปมปัญหาให้ผู้เกี่ยวข้องต้องขบคิดแก้ไขเป็นการเร่งด่วน!
2 – 3 ประเด็น “กลฉ้อฉล” ที่ กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าของโครงการฯ และ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นเจ้าของระบบฯ สรุปตรงกัน…
นอกจากปัญหา “หลอกแลกสิทธิ์เงินสด” ว่อนโลกอินเตอร์เน็ตแล้ว ก็มีเรื่อง “สร้างหลักฐานซื้อขายเท็จ” แบบไร้การซื้อขายจริง ออกมาป่วนโครงการฯ สนั่นเมือง!
นี่ยังไม่นับรวมประเด็นยิบย่อย จาก…ตัวโครงการฯ และจากการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ประเด็นนี้ เป็น นายผยง ศรีวนิช กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ระบุ เมื่อครั้งร่วมแถลงข่าวกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า…
“การโกงใน โครงการ “คนละครึ่ง” มีหลากหลายรูปแบบ การตรวจสอบจนนำไปสู่การจับกุม คงไม่จำเพาะจงเจาะว่าจะเป็นกลโกงรูปแบบใด เพราะกลโกงจากการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เกิดขึ้นทุกวันและเกิดกับทุกโครงการ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ไม่ได้มีเฉพาะแค่โครงการนี้”
ก่อนจะย้ำว่า…หากพบผู้เข้าร่วมโครงการฯ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งใด ประชาชนในฐานะ “ผู้ซื้อ” หรือร้านค้าในฐานะ “ผู้ขาย” รวมถึงกลุ่มมิจฉาชีพ จะต้องถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด!
สอดรับกับสิ่งที่ “รองโฆษกระทรวงการคลัง” นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค. ระบุเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า…
กระทรวงการคลัง โดย สศค.ได้แต่งตั้ง คณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องอุทธรณ์สำหรับโครงการคนละครึ่งเพื่อดำเนินการตรวจสอบพิจารณาและวินิจฉัยการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดเงื่อนไขโครงการฯ
ซึ่งขณะนี้พบว่า มีร้านค้าจำนวน 3 ร้านค้า มีเหตุอันควรสงสัยว่าเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการคนละครึ่ง
โดยคณะทำงานฯ ได้ดำเนินการระงับสิทธิการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และ ระงับการจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าดังกล่าวแล้ว พร้อมมอบหมายให้ นายอรรถพล อรรถวรเดช รอง ผอ.สศค. ไปแจ้งความร้องทุกข์กับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) แล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทย ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติ และหากตรวจสอบพบการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ จะมีการระงับการใช้แอปพลิเคชันและระงับการจ่ายเงินร้านค้าทันที
พร้อมกับแจ้งเตือนไปยัง ประชาชนและร้านค้า ว่า…อย่าได้หลงเชื่อการเชิญชวนตามโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ ที่เป็นการดำเนินการผิดเงื่อนไข โดยไม่มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าจริงอย่างเด็ดขาด!
เพราะอาจตกเป็นเหยื่อในการสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดซึ่งจะมีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปด้วย
จากข้อมูลที่ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS.COM เช็คมาได้ พบว่า…ทันทีที่ปรากฏข่าว แจ้งความจับ 3 ร้านค้า เผยแพร่ตามสื่อแขนงต่างๆ มีประชาชนจำนวนมาก โทร.มาสอบถามที่กระทรวงการคลัง นับร้อยๆ ราย…จนสายแทบไหม้
สรุปรวมความ คือ ทุกคนเป็นห่วงและเกรงว่า…ตัวเองที่หลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพ และ/หรือ ร่วมกระทำการ ทั้งที่รู้และไม่รู้เท่าทัน จะพลอย “ติดร่างแห” ถูกตามรวบตัวไปด้วยหรือไม่?
คำตอบคือ…ขึ้นกับข้อมูลหลักฐานและเจตนาแท้จริง!
ใช่คือใช่ ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่
ประเด็นสำคัญ หากไม่มีการส่งสัญญาณเตือนอย่างรุนแรง เรื่องนี้…อาจขยายตัวและขยายผลไปในวงกว้าง แต่เมื่อ กระทรวงการคลัง เล่นแรง! คาดว่า…มิจฉาชีพกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่กระทำการอย่างเป็นระบบและเป็นขบวนการ คงอยู่ไม่เป็นสุขแน่!
ไม่แน่ว่า…เงินที่นำออกไปใช้ผ่าน โครงการ “คนละครึ่ง” อาจมีส่วนไปสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในลักษณะการ “ฟอกเงิน” ให้กับกลุ่มมิจฉาชีพหรือไม่? โดยเฉพาะ ธุรกิจผิดกฎหมาย…ตั้งแต่ ยาเสพติด การพนัน ค้ามนุษย์ สารพัด…
เป็นเรื่องที่…ผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทวงการคลัง ธนาคารกรุงไทย และปอศ. จะต้องทำการขยายผลเชิงลึกโดยเร็ว
ล่าสุด ช่วงบ่ายวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย รอง ปธ.กก., ปธ.กก.บห. ธนาคารกรุงไทย และ ปธ.กก. อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด ซึ่งดูแลระบบการชำระเงินออนไลน์ให้กับโครงการนี้ มีข้อเสนอที่น่าสนใจคือ….
หากภาครัฐ ยืดการส่งเงินให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ จากเดิม 1 วัน (วันรุ่งขึ้น) เป็น 3 วันหลังจากมีการซื้อขาย ที่ตัวเขาเชื่อว่า…อาจลดแรงจูงใจต่อการฉ้อฉลได้บ้าง
ซึ่งไม่แน่ว่า…จะมีใครกล้ายื่นข้อเสนอนี้ ไปให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พิจารณาหรือไม่? เพราะเท่าที่เห็น แค่ธนาคารกรุงไทย โอนเงินส่วนที่รัฐออกให้ครึ่งนึงแก่ร้านค้าในวันรุ่งขึ้น ก็โดนบ่นอันอึงมี้แล้ว…ด้วยเหตุที่บางราย “หมุนเงินไม่ทัน”
ร้านค้าฯอยากให้ภาครัฐ โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย โอนให้ตั้งแต่กลางดึกในวันนั้น เสียมากกว่า…
แต่ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อฉลกลโกงรูปแบบใด?
จะเป็น…การ “หลอกแลกสิทธิ์เงินสด” โดยให้เจ้าของสิทธิ์ ส่งต่อ…เบอร์โทร รหัสผ่าน ชื่อนามและสกุล ที่เข้าใช้แอปฯเป๋าตังไปให้…พวกมิจฉาชีพ แลกกับการรับโอนเงินเพียงเล็กน้อย หรือจะเป็น…การทำตัวเลขซื้อขายปลอมครบวงจร โดย “ไม่มีการซื้อขายจริง”
ทั้งหมด…คือ การฉ้อโกงเงินงบประมาณแผ่นดิน อันเป็นเงินภาษีของคนไทยทั้งประเทศ หรือไม่ก็เป็นเงินที่มาจากการที่รัฐบาลไปกู้หนี้ยืมสินเข้ามาใช้จ่ายในโครงการเหล่านี้
แต่สุดท้าย ก็เป็นคนไทยทั้งแผ่นดิน ที่ร่วมกันเป็นหนี้และมีภาระต้องชดใช้หนี้สินร่วมกัน
จากข้อมูลที่ สศค.ระบุมาก่อนหน้านี้ ยังพบพฤติกรรม “ฉ้อฉล” ในโครงการ “คนละครึ่ง” อีกนับสิบราย หากรัฐบาลไม่ทำอะไรที่มากกว่าการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ในลักษณะ…เชือดทั้งไก่ และเฉือนทั้งลิง ให้ใครก็ตาม ที่คิดจะเปิดกลวิธี “กลฉ้อฉลรูปแบบใหม่ๆ” ดูเป็นตัวอย่าง ล่ะก็…
พฤติกรรม “เรียนแบบ” จากความสำเร็จ “โกงแล้วรวย” จะกลายเป็น ไวรัส…แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ไม่ต่างจากเชื้อโควิด-19
แผนการและโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาล หวังจะใช้โครงการ/มาตรการของรัฐ ตั้งแต่…บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ชิมช้อปใช้, คนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน และอีกสารพัดที่จะมีตามมา นำพาไปสู่วิถี “เนชั่นแนล อี เพย์เม้นท์” อาจกลายเป็นฝันสลายได้…
หากไม่รีบ “ตัดวงจรโกง”…กันเสียแต่ต้นน้ำ!!!.