ผ่า..นโยบายต่างประเทศ “โดนัลด์ ทรัมป์”
Make America Great Again สร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง คำขวัญนโยบายของมหาเศรษฐีหนุ่มใหญ่ฝีปากกล้า “ โดนัลด์ ทรัมป์ ” ถูกอกถูกใจชาวอเมริกันมากกว่า Stronger Together “ เข้มแข็งยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน ” ของสาวใหญ่วาทะดุดันคมคาย “ ฮิลลารี คลินตัน ” จึงคว้าเก้าอี้ “ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ” อย่างเหนือความคาดหมายของผู้คนจำนวนมากทั่วโลก
จากนี้ไป หรือนับตั้งแต่การสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 อย่างเป็นทางการวันที่ 20 มกราคม ปี 2560 โฉมหน้าท่าทีอเมริกาจะอย่างไร ผลกระทบมากน้อยจะเกิดแก่โลกด้านใดแค่ไหนต้องติดตาม เพราะการกระดิกตัวของอเมริกาแต่ละครั้งส่งผลกระเพื่อมทั้งโลก โดยเฉพาะ “ นโยบายต่างประเทศ ” Foreign Policy
ระหว่างการเสียงดุเดือดของ “ มหาเศรษฐีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หนุ่มใหญ่ ” กับ “ สาวใหญ่อดีตสตรีหมายเลข 1” ตลอดช่วงเวลาเกือบ 2 ปี “ นโยบายต่างประเทศ ” ของทั้งสองฝ่าย ถูกเฝ้าติดตามวิเคราะห์จากทั่วโลก แม้ประเด็นการหาเสียงส่วนใหญ่ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้เน้นไปทาง “ สาดโคลน ” ถึงขนาดชาวอเมริกันหลายคนระบุการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ “ ตัวเลือกแย่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติสหรัฐอเมริกา ”
“ นโยบายต่างประเทศเฉพาะด้านความมั่นคง ” ของนายทรัมป์กับนางฮิลลารี ไล่เป็นเรื่องๆ จะเห็นมุมมองทั้งแตกต่างและคล้ายคลึง ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย หนักหน่วง แข็งกร้าวหรือผ่อนปรนดูเหมือนต่างกันตามลักษณะตัวตนของทั้งคู่
เรื่องนาโต้
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ สมาชิก 28 ประเทศ “ ทรัมป์ ” วิพากวิจารณ์นโยบายนาโต้โบราณคร่ำครึ สมาชิกนาโต้อกตัญญู แค่อาศัยผลประโยชน์จากสหรัฐฯ ไม่ค่อยยอมควักจ่ายทุน ทั้งๆ ที่ข้อตกลงต้องใช้งบประมาณของแต่ละชาติสมาชิกมากอย่างน้อย 2% สหรัฐฯ ต้องแบกภาระปกป้องชาติยุโรปและเอเชียทั้งหมดไม่ได้อีกต่อไป ถ้าประเทศเหล่านั้นไม่ช่วยเหลือตัวเองบ้าง ทั้งขู่ถอนทหารสหรัฐฯ ในต่างแดนกลับประเทศถ้าได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี
ส่วน “ ฮิลลารี ” ยึดมั่นสถานะสมาชิกและพันธมิตรนาโต้อย่างเหนียวแน่นเช่นเดียวกับรัฐบาลบารัค โอบามา ระบุการลงทุนกับนาโต้คือสิ่งยอดเยี่ยมที่สุดประการหนึ่งเท่าที่อเมริกาเคยดำเนินการ ทั้งเตือนถึงแนวนโยบายของนายทรัมป์ไม่ยืดหยุ่น ยิ่งทำให้รัสเซียกล้ากร้าวมากขึ้น
ถ้าขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 อย่างเต็มก้นตั้งแต่ 20 ม.ค.ปีหน้า ไม่รู้ว่า “ ทรัมป์ ” จะพริ้วคำพูดปราศรัยหาเสียงมุทะลุดุดันลงมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเหล่าขุนพลที่ปรึกษาจะชี้แนะนำพาไปทิศทางใด แต่ด้วยบุคลิคลักษณะส่วนตัวของ “ ทรัมป์ ” ค่อนข้างเชื่อมั่นการวิเคราะห์ตัดสินใจเรื่องใดๆ ด้วยตัวเองมาตลอดอยู่แล้ว ขณะที่ “ นาโต้ ” องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ โอดครวญแสดงท่าทีชี้ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐกับนาโต้ ต่างก็ดำเนินมาตรการด้านความมั่งคงเพียงลำพังไม่ได้เพราะต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างเหนียวแน่นต่อไป
เรื่องรัสเซีย
ท่าทีของ “ ทรัมป์ ” เชื่อมั่นว่าจะลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียได้ไม่ยาก เพราะทำธุรกิจกับรัสเซียมานาน มีที่ปรึกษาเกี่ยวข้องกับรัสเซียก็หลายคน ทั้งชื่นชมยกย่องผู้นำรัสเซียคือผู้นำยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกและมีความสัมพันธ์อันดีส่วนตัวต่อกัน เชื่อว่าผู้นำรัสเซียเคารพตนมากกว่านางฮิลลารีและนายโอบามา
ผิดจากท่าทีของ “ ฮิลลารี ” ต้องการ “ รีเซต ” ยกเครื่องปรับความร่วมมือกับรัสเซีย แต่ไม่วายต้องแข็งกร้าวมากขึ้นต่อท่าทีของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ต้องจำกัดการรุนรานครอบงำของรัสเซียต่อยูเครนและซีเรีย โดยอาศัยพลังร่วมจากชาติพันธมิตรนาโต้
เรื่องกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส)
ทั้งนายทรัมป์และนางคลินตันให้ความสำคัญปัญหานี้มากพอๆ กัน คือมุ่งกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลามอย่างแข็งกร้าวด้วยความร่วมมือจากชาติตะวันตก ชาติอาหรับ รวมถึงรัสเซีย ทั้งยืนกรานไม่ยอมส่งทหารสหรัฐฯ ไปร่วมรบในอิรักกับซีเรีย ความแตกต่างของแนวทางแก้ปัญหาคือ นางฮิลลารีมุ่งประเด็นการเมืองต้องการโค่นอำนาจประธานาธิบดีบาชาร์ อัสซาด แห่งซีเรียลงให้ได้แม้ต้องเสี่ยงเผชิญหน้าทางทหารกับรัสเซียที่หนุนรัฐบาลอัสซาด
ขณะที่ “ ทรัมป์ ” มุ่งถล่มกองกำลังไอเอสและต้องการยึดคืนบ่อน้ำมันจากกลุ่มไอเอส เช่นเดียวกับ “ ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน ” ทั้งสองคนพร้อมใช้กำลังทหารกับอิหร่านถ้าอิหร่านพยายามครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่แตกต่างกันเรื่องรายละเอียดของเส้นทางไปสู่จุดนั้น
เรื่องจีน
นโยบาย “ ฮิลลารี ” ไม่ชัดเจนถึงสถานะสหรัฐฯ กับจีนหนักไปทางมิตรหรือคู่แข่ง แต่ยังจำเป็นต้องคงยุทธศาสตร์นโยบาย “ ปักหมุดเอเชีย ” เอาไว้อย่างเหนียวแน่น เพื่อคานอำนาจอิทธิพลจีน
ส่วน “ ทรัมป์ ” ดูเหมือนกร้าวแกร่งดุดันพร้อมเผชิญหน้ากับจีนมากกว่า “ ฮิลลารี ” พ้องกับแนวทางนโยบายของพรรครีพับลิกัน ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ จากพรรคสัญลักษณ์ตราช้างแต่ละสมัยล้วนข้องเกี่ยวกับสงครามไม่ว่าพื้นที่ภูมิภาคไหนๆ ของโลกถ้าลองไล่เรียงดูตั้งแต่สมัยผู้นำตระกูลบุชทั้งผู้พ่อและผู้ลูก
การขึ้นดำรงค์ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 45 ของนายทรัมป์ ไม่พ้นต้องแบกรับภาระสำคัญเรื่องความสัมพันธ์กับจีนในฐานะชาติมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลกในด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ นอกเหนือจากแนวนโยบายตัดสินใจดำเนินการด้านเศรษฐกิจแบบไหนกับจีน
ส่วนปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือ “ ทรัมป์ ” ก็ประกาศชัดเจน ต้องให้จีนยื่นมือช่วยคลี่คลายปัญหาให้มากกว่านี้ หาไม่แล้วชาติภูมิภาคเอเชียตะวันออกอื่นๆ ก็จำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ป้องกันตนเอง
เรื่องเศรษฐกิจ
ที่ว่ามาข้างต้นแค่เฉพาะ “ นโยบายต่างประเทศด้านความมั่นคง ” อย่าลืมว่า “ โดนัลด์ ทรัมป์ ” คือนักธุรกิจก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือดำรงค์ตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองมาก่อน ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ส่วนใหญก่อนหน้านี้เติบโตไต่เต้ามาจากตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ วุฒิสมาชิกหรืออย่างน้อยก็เคยดำรงตำแหน่ง ส.ส. แต่นายทรัมป์แหกแนวทางปฏิบัตินี้อย่างสิ้นเชิง
แนวนโยบาย America First “ อเมริกาต้องมาก่อน ” ของ “ ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ” ส่อแสดงถึงท่าทีการเดินหมากเกมของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งแต่ปีหน้า จะหันหน้าเข้าเอาใจใส่ปัญหาในประเทศก่อน ตั้งแต่เร่งสร้างงาน เร่งยกระดับสาธารณูปโภคในประเทศ เร่งจัดการปัญหาผู้อพยพลี้ภัยผิดกฏหมายในประเทศ เร่งปฎิรูปภาษี ดึงธุรกิจการลงทุนกลับเข้าประเทศก่อน แต่ก็ไม่ทิ้งลายติดอาวุธกับนโยบายต่างประเทศด้วยการระดมเหล่าที่ปรึกษาเข้าร่วมงานมากมายหลายคน
ทั้งนี้ทั้งนั้น รูปแบบการเดินเกมของอเมริกาต่อนานาประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ ต้องมีส่วนได้ส่วนเสียเกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว แต่จะหนักไปทางใครฝ่ายไหนได้เปรียบเสียเปรียบมากน้อยอย่างไร ต้องอาศัยเวลาคอยตั้งรับกันให้ดี โดยเฉพาะนโยบายหลัก 2 เสา คือ ความมั่นคงกับเศรษฐกิจ.