ต้องใจถึง แน่จริง!! เปิดร้านกาแฟ ชิง 30,000 ล้าน
โตไม่หยุด “ธุรกิจกาแฟ” ในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2560 ที่มีมูลค่าสูงถึง 21,200 ล้านบาท และสูงขึ้นอีกในปี 2561 ที่ 23,400 ล้านบาท ในปี 2562 ก็ได้เพิ่มสูงถึง 25,800 ล้านบาท
ในปี 2563 นี้ ก็ได้คาดกันว่า “ธุรกิจกาแฟ” ในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 300 แก้วต่อคนต่อปี
แม้จะอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยจะต่ำว่า ญี่ปุ่น ที่บริโภคประมาณ 400 แก้วต่อคนต่อปี และฝั่งยุโรปที่บริโภคประมาณ 600 แก้วต่อคนต่อปี แต่ “ธุรกิจกาแฟ” ในประเทศไทย ก็เติบโตต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นในทุกๆปี
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็น ร้านกาแฟ แบรนด์ ต่างๆ แจ้งเกิดยังอย่างเนื่องแน่น เพื่อช่วงชิง ส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้นนี้
สำหรับ เมนู กาแฟสด ที่คนไทยสั่งมากที่สุดก็ คือ คาปูชิโน ,ลาเต้ ,มอคค่า ,อเมริกาโน และ เอสเพรสโซ่ ซึ่งก็เชื่อว่าถ้าเป็นคอกาแฟกันแล้วก็คงได้ ลิ้มลองทั้ง 5 รสชาติเป็นแน่แท้ …ขึ้นอยู่กับว่าใครจะชอบชื่นชอบรสชาติใดเป็นพิเศษเท่านั้น
ส่วนร้านกาแฟยอดนิยมในประเทศไทย อันดับแรกคงหนีไม่พ้น ร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน หรือ Cafe Amazon ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีตำนานนานสนใจ มิใช่น้อย
แรกเริ่มเดิมที ร้านกาแฟ Cafe Amazon ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 2545 มาจากแนวความคิดของอดีตผู้บริหารคือ คุณอภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มองเห็นโอกาสในการเพิ่มศักยภาพทางการตลาด สร้างรายได้ให้กับสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ร้านกาแฟ Cafe Amazon จึงถูกรังสรรค์ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของนักเดินทาง
เอกลักษณ์ของร้าน Cafe Amazon เป็นการนำต้นตำรับกาแฟที่นำมาจากประเทศบราซิล และดินแดนแห่งนี้มีป่า Amazon อันเป็นสุดยอดแห่งป่าดงดิบธรรมชาติของโลก มาผนวกกันจนกลายเป็นร้านกาแฟที่มีบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบายด้วยร่มไม้และน้ำล้อมรอบ และด้วยเอกลักษณ์รสชาติเครื่องดื่มกาแฟที่เข้มข้น จึงกลายมาเป็นสโลแกนที่ว่า “Taste of Nature”
จากวันนั้นถึงวันนี้ 18 ปี ที่ร้านกาแฟ Cafe Amazon ครองใจคนไทย ด้วยรสชาติที่เข้มข้น และ ด้วยราคาที่ไม่แพง ซึ่งก็มีตั้งแต่ราคา 35 -75 บาท จึงทำให้เป็นที่นิยมของคนทั่วไป
ปัจจุบัน ร้านกาแฟ Cafe Amazon มีถึง 2,800 สาขา ทั้งใน และอีก 9 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ เมียนมา โอมาน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และ จีน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3,200 สาขา ในปี 2563
ใครสนใจอยากจะลงทุนต้องเตรียมเงิน ซื้อแฟรนไชส์ ประมาณ 2,640,000 – 4,200,000 ล้านบาท สำหรับรูปแบบสแตนด์อะโลน จะต้องมีพื้นที่รวมสวนหย่อม 100-200 ตร.ม.ขึ้นไป ส่วนโมเดลในอาคารจะต้องมีพื้นที่ 40 ตร.ม.ขึ้นไป ค่าใช้จ่ายบางส่วนต่ำกว่า เช่น ค่าก่อสร้าง-ตกแต่ง-งานระบบ ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ประมาณ 2,340,000-3,700,000 ล้านบาท
ส่วนร้านกาแฟ อินทนิล หรือ Inthanin ผู้น้อง ที่มีพ่อคนเดียวกับ Cafe Amazon ก็กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดร้าน Inthanin แห่งแรกเมื่อปี 2549 จนถึง ปี 2563 มีสาขาในประเทศไทย 600 สาขา และสาขาในต่างประเทศอีก 8 สาขา และมีแผนขยายสู่ 1,000 สาขา ในปี 2564
ที่น่าสนใจคือ วิกฤตโควิด-19 กลับดันยอดขายให้ Inthanin เพิ่มขึ้นกว่า 60% หลังจากปรับกลยุทธ์การขายออนไลน์ ที่ได้ร่วมกับ Grab และ Get ทำให้ Inthanin กลายเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดดในเวลานี้ โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 35-70 บาท
ที่ผ่านมา Inthanin พยายามที่จะนำสินค้าใหม่ออกจำหน่ายเพื่อทางเลือกให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพราะเล็งเห็นการเติบโตของธุรกิจนี้จาก วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
สำหรับเงินลงทุนแฟรนไชส์ร้านกาแฟ Inthanin รวมงบประมาณในการลงทุนทั้งค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าก่อสร้างร้านจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-3.0 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่และรูปแบบของร้าน
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่น่าสนใจมิใช่น้อย…
ส่วนกาแฟแบรนด์อื่นๆ อย่างเช่น กาแฟสด ชาวดอย, คอฟฟี่เวิลด์ ,คอฟฟี่ ทูเดย์ หรือแม้แต่ กาแฟพันธุ์ไทย ซึ่งใช้เงินลงทุนตั้งแต่ 450,000 – 4,000,000 ล้านบาท ต่างก็เร่งปรับกลยุทธ์การขายเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดด้วยเช่นกัน
แต่จะช่วงชิงกันได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับ รสชาติ จะโดนใจ “คอกาแฟ” หรือไม่ เพราะถ้ารสชาติมันใช่…รับรองไม่มีใครอย่างเปลี่ยนใจย้ายค่ายอย่างแน่นอน…