Singapore Flyer สัญลักษณ์ใหม่สิงคโปร์
สิงคโปร์มีความมุ่งมั่นในการสร้างสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจให้กับประเทศตัวเองอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลได้จัดสรรพื้นที่ตระเตรียมโปรเจ็คสำคัญ ๆ ไว้แล้วในแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาสิงคโปร์อย่างยั่งยืน นั่นคือสิงคโปร์จะต้องเป็น City in Garden ดังนั้นการสร้างตึกใหม่ ๆ ในสิงคโปร์จึงมีความเข้มงวดมาก ถึงขนาดที่สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่เคยสร้างตึกที่ปารีสที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีกฎระเบียบหยุมหยิมและข้อจำกัดเยอะมาก ยังต้องยอมจำนนเมื่อคิดจะออกแบบสร้างสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ในเขตเมืองของสิงคโปร์ ส่วนอาคารสิ่งปลูกสร้างใดที่สร้างโดยรัฐนั้น มักเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีสถาปัตยกรรมที่น่าทึ่ง และเป็นแลนด์มาร์คสำคัญ ๆ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเมื่อไปเยือนสิงคโปร์แล้ว ต้องไปให้ได้สักครั้งหนึ่ง
เมื่อปี 2005 สิงคโปร์ได้เริ่มก่อสร้าง Ferris Wheel หรือที่เรียกว่าชิงช้าสวรรค์ขนาดยักษ์ในพื้นที่บริเวณอ่าวสิงคโปร์ ด้วยทุนสร้างถึง S$240 ล้าน หรือประมาณ 6,200 ล้านบาท หลังจากที่อังกฤษมี London Eye ที่เปิดในปี 2000 ซึ่งถือเป็นสิ่งปลูกสร้างประเภท Ferris Wheel เพื่อการท่องเที่ยวชมเมืองขนาดใหญ่และอยู่กลางเมืองด้วยความสูงถึง 135 เมตร (แต่เดิม Ferris Wheel มักอยู่ในสวนสนุก) ต่อมาเมืองจีนก็มี Star of Nanchang ในประเทศจีนในปี 2006 ด้วยความสูง 160 เมตร ส่วน Singapore Flyer นั้นสร้างเสร็จเมื่อปี 2008 ด้วยความสูงที่เฉือน Star of Nanchang ไปเพียง 5 เมตรที่ความสูง 165 เมตร ทำให้ครองตำแหน่ง Ferris Wheel ที่มีความสูงที่สุดในโลกอยู่หลายปี ปัจจุบัน Ferris Wheel ที่มีความสูงที่สุดในโลกอยู่ที่ Las Vegas สหรัฐอเมริกาด้วยความสูง 167.6 เมตร แอบคิดเหมือนกันนะ ทำไมมาเฉือนกันอยู่ได้เมตรสองเมตรเนี่ย
โปรเจคนี้ถือเป็นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐบาลสิงคโปร์ เพราะเริ่มพิจารณาเมื่อปี 2000 หลังจากเห็น London Eye ประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่การเป็นตราสัญลักษณ์ของประเทศที่เรียกว่าเป็น Destination ใครมาก็ต้องแวะ โครงการได้อนุมัติให้สร้างโดยการท่องเที่ยวสิงคโปร์ในปี 2003 และเริ่มก่อสร้างในปี 2005 ในระยะเวลาเดียวกันนี้ หลาย ๆ ประเทศยังคงโยนวาระไปมารัฐบาลต่อรัฐบาลเลยด้วยซ้ำ
Singapore Flyer เป็น Ferris Wheel ขนาดยักษ์ที่มีแคปซูลปรับอากาศถึง 28 แคปซูล แต่ละแคปซูลบรรจุคนได้สูงสุด 28 คน มีขนาดถึง 26 ตารางเมตร ใหญ่กว่าห้องโรงแรมแถวไชน่าทาวด์เสียอีก และขนาดใหญ่มากพอที่ถ้าขึ้นไปพร้อมเด็กเล็ก 3 – 4 คนอาจเกิดอาการปวดหัว เพราะเด็กเหล่านั้นจะวิ่งเล่นไล่จับกันครึกครื้น หรือไม่ก็เล่นตั้งเตกระโดดให้แคปซูลสั่นชวนเสียวเส้นสันหลัง จนต้องแอบชำเลืองค้อนพ่อแม่ผู้ปกครองส่งสายตาเป็นนัย ๆ ว่าช่วยกรุณาดูแลลูกหลานให้หยุดเล่นตั้งเตเดี๋ยวนี้ มันเสียวรู้ไหม
การออกแบบมีความฉลาดเพราะตัวแคปซูลนั้นอยู่นอกส่วนของวงล้อ ทำให้สามารถมองวิวได้รอบทิศ โดยไม่มีอะไรมาบังสายตา ตัวชิงช้าจะหมุนตลอดเวลาไม่หยุด ดังนั้นการเข้าและออกจะดูน่าหวาดเสียวสำหรับบางคน ถึงแม้มันจะพิสูจน์แล้วว่าไม่มีอันตรายแม้แต่น้อย เพราะการหมุนวนหนึ่งรอบจะต้องมีคนลงจากแคปซูล 28 คน และมีคนเข้าไปใหม่อีก 28 คน ดังนั้นจึงมีเวลาขึ้นลงพอสมควรเลยทีเดียว การก้าวเท้าจากจุดหยุดนิ่งไปในชิงช้าที่มีความเคลื่อนไหว ก็สามารถทำได้อย่างปลอดภัย แต่ที่เสียวคือตรงสุดทางขึ้นจะมีตาข่ายรองรับแบบที่ใช้กันในละครสัตว์ที่มีนักกายกรรมเดินบนลวดสลิงที่อยู่สูงจากพื้นดิน ณ จุดขึ้นชิงช้ากว่า 20 เมตร แถมยังมีรองเท้าของผู้โชคร้ายบางคนตกอยู่ ซึ่งนั่นอาจทำให้คนที่ขึ้นตามหลังต้องคิดให้มากหน่อย และยังเป็นการเพิ่มความตั้งใจให้กับคนที่กำลังจะขึ้นชิงช้าได้อย่างมากเลยทีเดียว
เมื่อเข้าไปในกระเช้าจะมีที่นั่งเป็นม้านั่งยาวอยู่ตรงกลางหันหน้าออกเพื่อชมวิว แค่การเกาะราวเหล็กที่ขอบแคปซูลมองทิวทัศน์และโครงสร้างอันใหญ่โตของ Singapore Flyer เป็นอะไรที่เพลิดเพลินมาก ๆ ปล่อยที่นั่งกลางให้คนสูงอายุไปจะดีกว่า เพราะนอกจากการตั้งกล้องถ่ายภาพวิวที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามความสูงที่ไล่วนอย่างต่อเนื่องแล้ว เมื่อใกล้ถึงจุดสูงสุดมักไม่มีใครต้านทานความตื่นเต้นได้ เป็นต้องลุกขึ้นมาเกาะขอบดูวิวและถ่ายรูปกันอีกเสียยกใหญ่ รวมทั้งเด็กน้อยน่ารักที่มักแสดงอาการดีใจด้วยการกระโดดโลดเต้นวิ่งถ่ายรูปซ้ายขวากันให้ชุลมุน จนต้องชำเลืองบรรดาผู้ปกครองอีกครั้งเป็นการเตือนเบา ๆ
เดิมทีนั้นหากมองจาก Marina Bay Sand แล้ว Singapore Flyer จะหมุนในทิศทวนเข็มนาฬิกา แต่หลังจากเปิดบริการได้ 6 เดือน ปรมาจารย์ด้าน Feng Shui ก็บอกให้หมุนกลับอีกทิศหนึ่ง สมเป็นชาติที่ยึดถือปรัชญาตะวันออกอย่างแท้จริง
เมื่อเทียบกับ Ferris Wheel อื่น ๆ ทั่วโลกแล้ว โดยเฉพาะที่ London Eye นักท่องเที่ยวขึ้นชิงช้าตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็นตลอดวัน แต่ช่วงพีคที่คนนิยมขึ้นกันมักจะเป็นช่วงเวลาเที่ยง ๆ บ่าย ๆ เพราะแสงสว่างกำลังดีสำหรับการชมวิวนั่นเอง ขณะที่ Singapore Flyer นั้น ช่วงกลางวันพีคสุดคือบ่ายโมง แต่ตั้งแต่หกโมงเย็นถึงสี่ทุ่มกลับเป็นช่วงที่พีคมากกว่า เพราะนักท่องเที่ยวจะมีจำนวนมากกว่าตอนกลางวันถึงสองเท่าเลยทีเดียว
นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสประสบการณ์ Singapore Flyer ได้ตั้งแต่เวลา 8.30 – 22.30 น. ผู้ใหญ่เสียค่าเข้าชมคนละ S$33 หรือราว ๆ 850 บาท และเด็กคิดค่าบริการคนละ S$21 หรือประมาณ 550 บาท สำหรับประสบการณ์ครึ่งชั่วโมงในสิงคโปร์จากอีกมุมมองหนึ่ง ทั้งนี้ การเดินทางสามารถเลือกโดยสาร MRT สาย Circle Line, CC4 ลงที่สถานี Promenade แล้วเดินอีกนิดก็ถึงแล้ว ไม่ต้องกลัวหลงเพราะคุณจะมีเพื่อนเดินเยอะ และทุกคนล้วนมีจุดหมายเดียวกัน….ก็คือ Singapore Flyer นั่นเอง