ดีเอชแอล เผยรายงานชี้ความสำเร็จในการขนส่งวัคซีนโควิด-19
“ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เผยรายงานการศึกษา ชี้ความสำเร็จในการขนส่งวัคซีนโควิด-19 ต้องมาจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน”
กรุงเทพฯ, 5 ตุลาคม 2563 – ดีเอชแอล ผู้ให้บริการขนส่งระดับโลก ร่วมมือกับแมคคินซีย์แอนด์คอมปะนี พันธมิตรด้านการวิเคราะห์ เผยแพร่รายงานเรื่องการจัดการการขนส่งวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรับมือวิกฤตด้านภัยสุขภาพในอนาคต โดยจากการคาดการณ์ว่าจะมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นครั้งแรกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นับเป็นความท้าทายของผู้ให้บริการลอจิสติกส์ที่ต้องเตรียมจัดตั้งระบบซัพพลายเชนเพื่อสาธารณสุขขึ้นอย่างฉับพลันเพื่อให้สามารถขนส่งวัคซีนที่คาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 1 หมื่นล้านโดสได้ทั่วโลก
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีการพัฒนาและทดสอบวัคซีนมากกว่า 250 ชนิด บน 7 แพลตฟอร์มการผลิต ในขณะที่วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว วัคซีนบางประเภทจำเป็นต้องเก็บในอุณหภูมิที่กำหนดอย่างเคร่งครัด (ต่ำกว่า -80 °C) เพื่อคงประสิทธิภาพระหว่างการขนส่งและเก็บรักษาที่คลังสินค้า จากทั่วไปที่ระบบซัพพลายเชนเพื่อการแพทย์สามารถจัดระบบการขนส่งและควบคุมอุณหภูมิระหว่างการขนส่งวัคซีนที่อุณหภูมิ 2–8 °C โดยประมาณ จึงเป็นความท้าทายใหม่ในวงการลอจิสติกส์ในยุคปัจจุบัน
ในรายงานการศึกษานี้ ดีเอชแอลได้ประเมินแล้วว่าจะสามารถจัดการการขนส่งวัคซีนหรือผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนไหวด้านอุณหภูมิในระดับสูงให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรเพื่อร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ขอบเขตการศึกษาอยู่ในวงกว้าง เพราะการจะสร้างซัพพลายเชนที่รองรับการขนส่งเพื่อรับมือกับการควบคุมการแพร่ระบาดนี้ ต้องครอบคลุมความสามารถในการขนส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับคนทั่วโลก คิดเป็นการจัดส่งชิปเมนต์บนพาเลทกว่า 200,000 พาเลท จัดส่งในกล่องควบคุมความเย็นกว่า 15 ล้านกล่อง และขนส่งผ่านเครื่องบินขนส่งสินค้ากว่า 15,000 เที่ยวบิน
“วิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้นและมีผลกระทบในวงกว้างอย่างคาดไม่ถึง ภาครัฐ ภาคธุรกิจรวมถึงอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วกับความท้าทายใหม่นี้ ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านลอจิสติกส์ เราจึงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ในการปฏิบัติงานท่ามกลางวิกฤตด้านสุขอนามัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ เพื่อพัฒนากลยุทธ์สำหรับโลกที่ไร้พรมแดนและเชื่อมต่อกันมากยิ่งกว่าเคย” คัทยา บุสช์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจ ดีเอชแอล กล่าว “เพื่อปกป้องชีวิตให้ปลอดภัยจากโรคระบาด หน่วยงานรัฐบาลจึงได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในด้านซัพพลายเชนเพื่อสาธารณสุข ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดีเอชแอลได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการวางแผนที่ครอบคลุม รวมถึงความร่วมมือด้านซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่ภาครัฐทำหน้าที่จัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอย่างที่ได้เกิดขึ้นนี้”
การจัดการวิกฤตด้านสาธารณสุขในอนาคตต้องเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
ตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์พุ่งสูงขึ้นมาก จากข้อมูลของยูนิเซฟระบุว่า ปีนี้ ยูนิเซฟสรรหาหน้ากากอนามัยและถุงมือสำหรับใช้ในการแพทย์มากกว่าปี 2562 ถึง 100 เท่าและ 2,000 เท่า ตามลำดับ การจัดหาอุปกรณ์การแพทย์จากแหล่งต่างๆ กันมาให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้งานกลายเป็นภารกิจสำคัญในช่วงต้นของการจัดการรับมือโรคระบาดใหญ่สำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่ประสบความท้าทายอย่างหนักในเชิงลอจิสติกส์ขาเข้าเนื่องจากโรงงานผลิตกระจุกตัวอยู่แหล่งเดียว พื้นที่ขนส่งทางอากาศที่จำกัด และความท้าทายเรื่องการตรวจสอบคุณภาพระหว่างการนำเข้าสู่ประเทศ ในอนาคต หากเกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขขึ้นอีก การเตรียมกลยุทธ์และโครงสร้างในการจัดการวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุมจะช่วยสร้างอุปทานด้านการแพทย์ที่แข็งแกร่งได้ จากรายงานการศึกษาระบุว่ากลยุทธ์และโครงสร้างดังกล่าวจำเป็นต้องตั้งขึ้นมาจากหน่วยงานรัฐบาล โดยภาครัฐและเอกชนต้องให้ความร่วมมือกัน
“ทั่วโลกต่างกำลังเร่งผลิตวัคซีนให้สำเร็จโดยเร็ว และวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวนหนึ่งได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการทดลองขั้นสุดท้าย วัคซีนเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องมนุษย์จากโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 และที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการมีระบบซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพที่สามารถเอื้อให้การขนส่งวัคซีนครอบคลุมทุกพื้นที่ในโลกภายในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกลหรือยากจะเข้าถึง โดยที่ต้องคงประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างสมบูรณ์ในระหว่างการขนส่ง ในฐานะผู้ให้บริการลอจิสติกส์ระหว่างประเทศ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสมีความมุ่งมั่นให้บริการเพื่อเชื่อมต่อผู้คนและยกระดับคุณภาพชีวิตโดยการทำหน้าที่ในภาคธุรกิจ พัฒนาระบบการขนส่งให้สามารถจัดส่งวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังผู้รับปลายทางที่จำเป็นต้องใช้ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก” เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทยและหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีนกล่าว
จากรายงานการศึกษาเรื่องการปรับตัวของลอจิสติกส์ในภาวะโรคระบาดใหญ่ ชี้ให้เห็นถึงความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการปรับตัวของลอจิสติกส์เพื่อการขนส่งทางการแพทย์ท่ามกลางภาวะโรคระบาดใหญ่ ดีเอชแอลนำเสนอกรอบความร่วมมือของบริษัทลอจิสติกส์กับหน่วยงานต่าง ๆ ภาครัฐ องค์กรไม่แสวงผลกำไร รวมถึงอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ กรอบความร่วมมือนี้จะช่วยกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมให้ระบบซัพพลายเชนแข็งแกร่งและปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกเหนือจากแผนรับมือภาวะฉุกเฉินแล้ว กรอบความร่วมมือหมายรวมถึงเครือข่ายความร่วมมือ โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่แข็งแกร่งด้านลอจิสติกส์และความโปร่งใสของซัพพลายเชนผ่านระบบไอที ท้ายที่สุดต้องมีหน่วยงานฉุกเฉินที่มีอำนาจสั่งการเพื่อลงมือทำสิ่งสำคัญภายในระยะเวลาตัดสินใจอันสั้น