“น้ำมัน-รถยนต์-เครื่องดื่ม” ดันรายได้สรรพสามิตพุ่ง!
นัดแถลงซ้ำ! แจงรายได้ภาษีสรรพสามิตขยับขึ้นอีก คาดสิ้นปีงบ’63 พุ่งกว่า 5.46 แสนล้านบาท ทึ่ง 3 สินค้า “น้ำมัน-รถยนต์-เครื่องดื่ม” ทะยานสูง ดันรายได้สรรพสามิตสวนวิกฤตโควิด-19 ชี้! ยอดขายเครื่องดื่มผสมวิตามิน ขายดีจนโรงงานผลิตไม่ทันขาย
เพิ่งแถลงตัวเลขผลการดำเนินงานไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ผ่านมา 6 วัน นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต นัดแถลงข่าวซ้ำในเรื่องเดียวกัน นัยว่าเป็นการสรุปตัวเลขฯครั้งสุดท้าย ก่อนจะย้ายไปทำหน้าที่อธิบดีกรมศุลกากร ในวันที่ 1 ต.ค.2563
ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น นายพัชร ระบุว่า เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนกว่า 20,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 – 24 ก.ย.63 กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้รวม 543,067.08 ล้านบาท คาดว่าในช่วงเวลาที่เหลือจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ กรมสรรพสามิตจะจัดเก็บรายได้รวมทั้งสิ้น 546,644.65 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าประมาณ 95,955.35 ล้านบาท หรือ 14.93% แต่ก็สูงกว่าคาดการณ์ที่ 501,000 แสนล้านบาท ถึงกว่า 33,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ 5 กลุ่มสินค้าที่จัดเก็บภาษีมากสุด ได้แก่ 1.ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน221,140.28 ล้านบาท 2.ภาษีรถยนต์ 84,347.28 ล้านบาท 3.ภาษีเบียร์ 80,012.64 ล้านบาท 4.ภาษีสุรา 61,205.39 ล้านบาท และ 5.ภาษียาสูบ 62,761.24 ล้านบาท โดยในเดือน ก.ย. 2563 (1 – 24 ก.ย.2563) จัดเก็บได้รวม 39,184.78 ล้านบาท จากที่คาดการณ์ 42,762.35 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณการ ต่ำกว่า 8,065.38 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.87%
“ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างสนใจ คือ น้ำมัน รถยนต์ และเครื่องดื่ม ซึ่งพบว่าน้ำมันดีเซลมีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มรถขนส่งและรถโดยสาร ส่วนยอดขายรถยนต์ขนาดเล็กก็เพิ่มขึ้น สะท้อนว่าผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนเครื่องดื่ม พบว่าในกลุ่มน้ำดื่มผสมวิตามิน ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงที่ไวรัสโควิดฯระบาดอย่างหนัก จนโรงงานผลิตกันไม่ทันกับความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม รายได้จากภาษีจากอัตราความหวาน อาจไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับภาษีน้ำมันและสุรา แต่หากดูที่อัตราการเติบโตต้องถือว่าสูงขึ้นอย่างมาก” อธิบดีกรมสรรพสามิต ย้ำ
ด้านผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 -24 ต.ค.2563 อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า พบการกระทำผิด27,642 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 481.66 ล้านบาท โดยแยกเป็น สุรา 15,821 คดี ค่าปรับ 157.21 ล้านบาท, ยาสูบ 8,136 คดี ค่าปรับ 188.54 ล้านบาท, ไพ่ 592 คดี ค่าปรับ 8.49ล้านบาท, น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 1,211 คดี ค่าปรับ 59.20 ล้านบาท, น้ำหอม 72 คดี ค่าปรับ 1.84 ล้านบาท, รถจักรยานยนต์ 1,228 คดี ค่าปรับ 30.94 ล้านบาท และสินค้าอื่นๆอีก 582 คดี ค่าปรับ 35.44 ล้านบาท โดยมีของกลางแยกเป็นน้ำสุรา 1,816,955.434 ลิตร, ยาสูบ 495,716 ซอง, ไพ่ 69,602 สำรับ, น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 3,083,518.000 ลิตร, น้ำหอม 49,756 ขวด รถจักรยานยนต์ 1,405 คัน
สำหรับผลการปราบปราม (ระหว่างวันที่ 18 – 24 ก.ย.2563) พบว่ามีการกระทำผิด 402คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 7.48 ล้านบาท โดยแยกเป็น สุรา 232 คดี ค่าปรับ 1.91 ล้านบาท, ยาสูบ 109 คดี ค่าปรับ 2.62 ล้านบาท, ไพ่ 6 คดี ค่าปรับ 0.07 ล้านบาท, น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 22 คดี ค่าปรับ 1.69 ล้านบาท, รถจักรยานยนต์ 20 คดี ค่าปรับ 0.46 ล้านบาท และสินค้าอื่นๆ 13 คดี ค่าปรับ 0.73 ล้านบาท โดยมีของกลางแยกเป็นน้ำสุรา 8,928.050 ลิตร, ยาสูบ 8,265 ซอง, ไพ่ 578 สำรับ, น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 51,033.000 ลิตร และรถจักรยานยนต์ 23 คัน
“หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตสามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call center 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th หรือแจ้งที่ตู้ ป.ณ. 10 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ และจะมอบสินบนนำจับให้ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว” อธิบดีกรมสรรพสามิต ย้ำ.