จาการ์ตาหวังตรวจเชื้อเพิ่มขึ้นสองเท่า
จาการ์ตา : เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาให้สัมภาษณ์สื่อว่า กรุงจาการ์ตามีแผนจะเพิ่มศักยภาพการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้มากขึ้นเป็นสองเท่าในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากต้องต่อสู้กับการติดเชื้อที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีมาตรการคุมเข้มเพื่อชะลอการแพร่ระบาดและช่วยแบ่งเบาภาระในการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของโรงพยาบาล
เฉพาะกรุงจาการ์ตา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยกว่า 1,000 รายต่อวันในเดือนก.ย.นี้ มากกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของเดือนส.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นกดดันการทำงานในภาคส่วนสาธารณสุข
ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา อานีส บาสวีแดน ระบุในการให้สัมภาษณ์ว่า เมืองหลวงที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นถึง 10 ล้านคน มีรายงานการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาประมาณ 50,000 คนต่อวัน และหวังว่า “จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยสองเท่าจากที่เราทำได้ในขณะนี้”
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) อัตราการตรวจหาเชื้อไวรัสรายสัปดาห์ของกรุงจาการ์ตาอยู่ที่ 5.5 – 6 คนต่อประชากร 1,000 คนในรอบ 3 สัปดาห์ คิดเป็น 5 เท่าของของตัวเลขน้อยที่สุดของมาตรฐานของ WHO
บาสวีแดนระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เขาไม่มีทางเลือกนอกจากจะบังคับใช้มาตรการคุมเข้มที่มีการผ่อนคลายไปก่อนหน้านี้ในเดือนมิ.ย.
“ เราไม่เคยเจอสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดดแบบนี้มาก่อน” บาสวีแดนกล่าว “ เป็นเหตุผลที่เราตัดสินใจจะตัดวงจรการระบาด”
เขาระบุว่า โรงพยาบาล 13 แห่งจาก 67 แห่งถูกจัดให้เป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อถูกถามว่า จะมีโรงพยาบาลมากขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนาหรือไม่ เขาตอบว่า “ ผมหวังว่าจะไม่นะ ไม่มีใครอยากให้เป็นเช่นนั้น ”
ในวันที่ 17 ก.ย. อินโดนีเซียรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,635 ราย และมีผู้เสียชีวิต 122 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยสะสมจากโควิด -19 ในประเทศอยู่ที่ 232,628 ราย และมีผู้เสียชีวิต 9,222 ราย มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
กรุงจาการ์ตาเลือกที่จะใช้มาตรการคุมเข้มมากขึ้น ไม่ล็อกดาวน์ทั้งเมือง ซึ่งนักวิจารณ์ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เข้มงวดและผ่อนคลายมากเกินไป ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอินโดนีเซียระบุว่า การคุมเข้มกรุงจาการ์ตามากขึ้นอาจส่งผลกระทบร้ายแรงทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 หดตัวมากยิ่งขึ้น
โดยผู้ว่าบาสวีแดนระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19 มีมากกว่าในด้านเศรษฐกิจ“ เราควรจัดการกับวิกฤตสาธารณสุขให้ดีขึ้น ไม่เพียงเพื่อเศรษฐกิจเท่านั้น แต่กิจกรรมทางสังคมจะกลับมาเข้าที่เป็นปกติได้เร็วขึ้น ”