ไฟป่ายังโหมในสหรัฐฯ ควันลอยถึงยุโรป
ลองแองเจลีส : เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ทางการสหรัฐฯเตือนว่า รัฐแคลิฟอร์เนียยังเผชิญกับภัยพิบัติจากไฟป่าที่ไหม้ลามทั่วฝั่งตะวันตก คาดการณ์ว่าลมแรงและอากาศแห้งยิ่งโหมกระพือทำให้ไฟรุนแรงขึ้นอีกทั่วรัฐ
แกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียระบุว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมีความก้าวหน้าในการต่อสู้เพื่อควบคุมสกัดเหตุไฟป่ากว่า 24 จุดสำคัญ โดยลมที่มีชื่อเรียกว่า ซานต้า อันนา ทำให้ไฟยิ่งโหมแรงขึ้นอีก
โดยเขาระบุว่า ในปี 2563 จนถึงตอนนี้ เกิดเหตุไฟป่ามากถึง 7,606 จุด เมื่อเทียบกับ 4,972 จุดในปี 2562
ไฟป่าได้เผาทำลายพื้นที่ไปเกือบ 2.3 ล้านเอเคอร์ ( ประมาณ 1.5 ล้านเอเคอร์ตั้งแต่กลางเดือนส.ค ตรงข้ามกับปีที่แล้วที่มีพื้นที่ 118,000 เอเคอร์ที่ถูกไฟป่าเผาทำลาย)
ผู้ว่าฯนิวซัมยังโจมตีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมาเยือนรัฐแคลิฟอร์เนียก่อนหน้านี้ในสัปดาห์นี้ โดยเขาระบุว่า เขา “ ไม่มีความอดทนกับคนที่ปฏิเสธเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง” ซึ่งถือเป็นการปฏิเสธหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันเกิดจากภาวะโลกร้อน
ทรัมป์ไม่เชื่อว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไฟป่า โดยเขาระบุว่า ภาวะโลกร้อนจะกลับมาเย็นเองได้
“ขนาดและความรุนแรงของไฟป่าครั้งนี้อยู่ในระดับสูงกว่าทุกเหตุการณ์ในรอบ 18 ปีที่เรามีการบันทึกข้อมูล” คือตั้งแต่ปี 2546 มาร์ก แพริงตัน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสและผู้เชี่ยวชาญไฟป่าที่ Copernicus Atmosphere Monitoring Service (CAMS) ของยุโรปให้ข้อมูล
โดยเขาเสริมว่า ไฟป่าทำให้เกิดมลพิษ จนสามารถเห็นเป็นควันหนาทึบห่างออกไปไกลถึง 8,000 กม.ในพื้นที่ทางเหนือของยุโรป เน้นย้ำถึงหายนะของไฟป่าครั้งนี้
ควันที่หนาทึบที่สุดจากไฟยังคงปกคลุมท้องฟ้าฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ทำให้หลายเมืองทั้งลอสแองเจลิสและซานฟรานซิสโกมีคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดในโลก
นอกเหนือจากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 30 รายจากเหตุไฟป่า รัฐโอเรกอนและวอชิงตันก็ประสบกับเหตุไฟป่าที่ร้ายแรงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยในโอเรกอน มีผู้เสียชีวิต 10 รายจากเหตุไฟป่า
ไฟป่าที่เกิดขึ้นทั่วฝั่งตะวันตก ( ซึ่งบางส่วนเกิดจากเหตุฟ้าผ่า) ได้เผาผลาญพื้นที่ไปแล้วกว่า 5 ล้านเอเคอร์ และทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย
ทางการยังเตือนว่า ควันจากไฟป่าอาจยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ของโควิด-19 ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงที่ต้องแชร์พื้นที่ร่วมกัน โดยการสูดควันพิษจะส่งผลทำร้ายปอดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 และระบบภูมิคุ้มกันมากยิ่งขึ้น