อนุสรณ์แห่ง…อดีต “วิหารชเวนันดอร์”
เมืองมัณฑะเลย์คือเมืองหลวงแห่งสุดท้ายของพม่าที่คาบเกี่ยวกับการเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง
ซึ่งด้วยผลพวงจากสงครามนี้เองที่ทำให้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของพม่าถูกทำลายไปหลายต่อหลายแห่ง แต่ทว่าสิ่งเดียวที่ยังคงเหลือเป็นอนุสรณ์และร่องรอยของความเจริญทางวัฒนธรรมมาจวบจนปัจจุบัน ก็คือ วิหารชเวนันดอร์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมโบราณในรัชสมัยของพระเจ้ามินดง สำหรับนักท่องเที่ยวที่วางแผนไปเยือนพม่าและปรารถนาจะระลึกถึงความเจริญรุ่งเรืองของสมัยก่อน การเลือกไปวิหารชเวนันดอร์ คือหมุดหมายปลายทางสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
วิหารแห่งไม้สักทอง วิหารชเวนันดอร์เป็นวิหารไม้สักทองงดงามอลังการที่ชวนให้หลาย ๆ คนประทับใจไปกับความโดดเด่นของสถานที่นี้ โดยเฉพาะการสร้างสรรค์อย่างตั้งใจและทุ่มเทแรงกายแรงใจของคนพม่า ซึ่งสืบเนื่องจากความศรัทธา และที่สำคัญยังเป็นสถานที่แห่งอนุสรณ์ให้ระลึกถึงความรุ่งเรืองของมัณฑะเลย์แห่งนี้อีกด้วย
ประวัติความเป็นมาวิหารชเวนันดอร์ วิหารแห่งนี้แต่ก่อนเคยทำหน้าที่เป็นวัดทางพระพุทธศาสนามาก่อน แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นวิหารและตั้งอยู่ในเขตของพระราชวังมัณฑะเลย์ สิ่งที่น่าอัศจรรย์คือ ที่แห่งนี้ยังเหลือรอดจากภัยสงครามเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นสถานที่ประทับของกษัตริย์แห่งพม่าผู้มีพระนามว่าพระเจ้ามินดง และเป็นผู้ก่อตั้งราชธานีมัณฑะเลย์ขึ้นมา โดยก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ได้เจริญภาวนา ณ สถานที่แห่งนี้ในช่วงที่พระองค์ประชวร หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ไป พระเจ้าสีป่อก็ได้ขึ้นสืบทอดพระราชสมบัติต่อ โดยพระองค์ได้โปรดให้ย้ายวิหารออกไปเพื่อสร้างขึ้นใหม่ในเขตด้านนอก ตามที่พระเจ้ามินดงได้สั่งไว้ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์พระเจ้าสีป่อก็เลยปฏิบัติตามคำสั่งของพระราชบิดา หลังจากย้ายออกมาแล้ว พระเจ้าสีป่อได้ใช้สถานที่แห่งนี้เพื่อปฏิบัติธรรมสงบใจโดยเฉพาะ ทั้งนี้ การย้ายออกมาประทับด้านนอกนับเป็นผลดีอีกประการหนึ่ง เพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พระราชวังมัณฑะเลย์ได้ถูกระเบิดทำลายไป แต่วิหารแห่งนี้ยังคงเหลือเป็นอนุสรณ์แห่งความงามอยู่เปรียบได้ดังเป็นความวิจิตรอลังการตราบจนปัจจุบัน
ความงามจากกระจกสี ในอดีตวิหารแห่งนี้นับว่างดงามอย่างยิ่ง เนื่องจากว่ามีการหุ้มด้วยทองและประดับกระจกสีบริเวณภายในวิหารรวมไปถึงภายนอกวิหาร แต่ด้วยกาลเวลาที่เนิ่นนานไปได้ทำให้ทองหลุดลอกออกจนหมด หากจะยังคงมีอยู่ให้เห็นบ้างก็มีเพียงบริเวณเพดานของวิหารเท่านั้น นับว่าเป็นความงามที่ข้ามกาลเวลาซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ต่อไป
อาคารไม้แสนอลังการ สำหรับวิหารแห่งนี้มีความโดดเด่นด้วยการใช้ไม้ก่อสร้างที่สวยงามและเหมาะเจาะไปทุกส่วน และสิ่งที่งดงามจับตาเกินคาดคิด ก็คือลวดลายไม้สลักที่อยู่ทั่วบริเวณวิหาร ส่วนใหญ่แล้วลายสลักจะมีอยู่ที่กรอบประตู บานประตู ระเบียง เชิงชาย นับเป็นการแกะสลักที่ยากจะหาฝีมือช่างที่ใดเสมอเหมือน นับเป็นความงดงามแห่งไม้สลักที่นักท่องเที่ยวทุกคนควรหาโอกาสชม
พระเจ้ามินดง ผู้สร้างพระวิหารชเวนันดอร์สุดวิจิตรตระการตา พระเจ้ามินดงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพม่าและเป็นผู้ย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองมัณฑะเลย์ โดยพระองค์นับเป็นกษัตริย์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางด้านการปกครองให้กับพม่าอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่พระองค์ได้เปลี่ยนการปกครองให้มีความทันสมัยมากขึ้น และยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายๆ ด้าน ทั้งการเจรจาข้อพิพาทกับประเทศอังกฤษ รวมไปถึงการยอมสูญเสียดินแดนแห่งพม่าทางทิศใต้ อีกทั้งยังมีการแย่งชิงอำนาจกันเองในรัชสมัยนั้นอีกด้วย
สำหรับสาเหตุที่ย้ายเมืองหลวงมานั้นมีความเชื่อทั้งด้านโชคลางและการทหาร ก่อนหน้านี้พระเจ้ามินดงได้สุบินถึงภูเขาแห่งเมืองมัณฑะเลย์อันไม่ไกลจากกรุงอมรปุระ โหรจึงทำนายพระสุบินนี้ว่าควรสร้างเมืองหลวงใหม่ที่อยู่ระหว่างภูเขามัณฑะเลย์และแม่น้ำอิระวดี ซึ่งโหรแนะนำว่าภูเขาแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้าได้เคยมาประทับบริเวณที่แห่งนี้ ในส่วนของด้านการทหาร เมืองแห่งนี้มีทำเลที่เหมาะกับการรบอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่ไกลจากบริเวณแม่น้ำมากกว่าเมืองหลวงเก่า หากมีข้าศึกมาทางเรือกลไฟจะทำให้หนีได้ทัน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าด้วยศรัทธาที่มีอย่างแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนาบวกกับการมองการณ์ไกลและความต้องการปกป้องราชธานี ทำให้เกิดเมืองที่มีจุดยุทธศาสตร์ดี ๆ และคุณค่าทางอารยธรรมให้คนรุ่นหลังได้ปราบปลื้มใจ
พิธีโบราณแห่งการสังเวย สำหรับการย้ายเมืองใหม่นั้นพระเจ้ามินดงได้ทำตามเคล็ดโบราณ นั่นก็คือการทำพิธีอาถรรพ์เมืองด้วยการนำคนเป็น ๆ มาฝังในบริเวณมุมเมืองเพื่อเฝ้าประตูเมืองต่าง ๆ รวมไปถึงประตูราชวัง พร้อมกันนั้นก็ยังมีการฝังไว้ที่กำแพงเมืองทั้งสี่มุมอีกด้วย นับเป็นเคล็ดโบราณแห่งการเซ่นสังเวย ซึ่งเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ทำให้บางคนเชื่อกันว่าสาเหตุที่เมืองมัณฑะเลย์ถูกทำลายจากภัยสงครามก็เนื่องมาจากว่าการจองจำผู้คนด้วยการฝังทั้งเป็นยามที่ทำพิธีอาถรรรพ์เมือง เพราะถือเป็นบาปกรรมอันเป็นสาเหตุที่เมืองล่มสลาย แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่จะเลือกเชื่อหรือไม่ก็ได้
นักท่องเที่ยวสามารถโดยสารเครื่องบินตรงมาจากกรุงเทพมาลงที่เมืองมัณฑะเลย์ได้เลย และเมื่อมาถึงที่สนามบินแล้วก็สามารถเรียกใช้บริการรถรับจ้างรถไปที่วิหารชเวนันดอร์ได้ทันที ซึ่งรถโดยสารมีให้เลือกหลาย ๆ แบบตามความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยที่ตั้งของวิหารชเวนันดอร์นั้น อยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ และเปิดให้บริการเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08:00 น. – 20:00 น. สำหรับค่าบัตรเข้าชมอยู่ที่ 10,000 จั๊ตต่อคน