ดึงรุกที่ราชพัสดุฯเข้าระบบหนุนเศรษฐกิจ
กรมธนารักษ์เดินหน้าเปลี่ยนผู้บุกรุกที่ราชพัสดุเป็นผู้เช่าถูกกฎหมาย ตั้งเป้าไม่เกิน 2 ปีจากนี้ อีกกว่า 1 แสนราย ครอบครองที่ดินเกิน 1 ล้านไร่ จะต้องเข้าระบบทุกคน พร้อมปรับโฉมหนังสือแสดงสิทธิการเช่าที่ฯใหม่ มีขนาดและรูปร่างเหมือนโฉนดที่ดิน เปลี่ยนแค่ตราสัญลักษณ์จากครุฑเป็นรูปนกวายุภักษ์ เชื่อการใช้ประโยชน์ในที่ดินมีมากเท่าไหร่ นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังทำให้รัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้น
นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าว กรมธนารักษ์ ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในสังคมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ ด้วยการรับรองสิทธิด้วยการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุ ภายใต้โครงการ “ธนารักษ์ประชารัฐ” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 จนถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2563 ที่จะถึงนี้ เป็นต้นไป เตรียมจัดกิจกรรมมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้กับประชาชน ในอีก 15 จังหวัด ประกอบด้วย บริเวณชุมชนบ้านเขาดิน อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค, บริเวณเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์, บริเวณเทศบาล ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่, ณ ศาลาประชาคม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ณ ศาลาราชประชาสมาสัย อ.บ้านแฮด ขอนแก่น ทั้งหมดจะจัดในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. 2563
3 ส.ค. มอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุบริเวณวัดช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ลบุรี และ นิคมแพร่งขาหยั่ง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ถัดไป 10 ส.ค. มอบที่ วัดบ้านวังไผ่ อ.เมือง จ.มหาสารคาม, 13 ส.ค. อบต.บึงกาฬ อ.เมือง จ.บึงกาฬ, 21 ส.ค. ที่ อบต.เคียนซา อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี, 25 ส.ค. เทศบาลเมืองนางรอง จ.บุรีรัมย์ และหอประชุมจังหวัดสุรินทร์ (หลังเก่า) อ.เมือง จ.สุรินทร์, 28 ส.ค. ณ ที่ทำการนิคมแม่ลาว จ.เชียงราย, 8 ก.ย. ณ ที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี และ ชุมชนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี
ทั้งนี้ เมื่อรัฐรับรองสิทธิการใช้ที่ดินของราชการ โดยสร้างประโยชน์ในที่ดินนั้นให้แก่ประชาชนแล้ว ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย ทำการเกษตรกรรม หรือประกอบกิจการต่างๆ ในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะเป็นส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐได้อีกทางหนึ่งด้วย
“กิจกรรมมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุในครั้งนี้ กรมธนารักษ์จะดำเนินการเปิดตลาดชุมชนในพื้นที่แต่ละจังหวัดไปในคราวเดียวกันนี้ด้วย ผ่านโครงการ “เปลี่ยนชุมชนเป็นห้องประชุมในที่ราชพัสดุ” ซึ่งเป็นการจัดหาพื้นที่จำหน่ายสินค้า สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยมีรูปแบบเป็นที่ประชุมอเนกประสงค์ และเป็นพื้นที่จัดตลาดชุมชน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน และช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฐานรากในชุมชนต่างๆ แข็งแกร่งมากขึ้น โดยการสร้างโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ให้แก่ผู้ประกอบการในชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้ในทุกระดับ” นายยุทธนา ย้ำ
โดยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี 2537-2560) กรมธนารักษ์ได้ทำการรับรองสิทธิด้วยการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุ ทั้งเพื่อการอยู่อาศัย เพื่อการเกษตร และเพื่อการพาณิชย์ไปแล้วกว่า 1 แสนราย แต่จากนี้ไป จะเน้นนโยบายการรับรองสิทธิด้วยการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุ เปลี่ยนผู้บุกรุกที่ครอบครองที่ราชพัสดุโดยมิชอบทั่วประเทศ ให้เป็นผู้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้เร็วขึ้น คาดว่าไม่เกิน 2 ปีนับจากนี้ จะสามารถเร่งออกหนังสือแสดงสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุให้กับคนกลุ่มอีกราวกว่า 1 แสนราย พื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งทั้งหมดได้เข้าครอบครองที่ราชพัสดุก่อนวันที่ 4 ต.ค.2546 เท่านั้น
“นับแต่ช่วงต้นปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์พยายามจะรับรองสิทธิฯให้มากที่สุด ตั้งเป้าทำให้ได้มากถึง 60,000 ราย จากที่ยังมีผู้ครอบครองที่ดินโดยมิชอบทั่วประเทศอีกกว่า 1 แสนราย แต่เพราะปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้แผนงานสะดุดไปบ้าง กระนั้น กรมธนารักษ์ยังคงดำเนินการต่อไป คาดว่าภายในสิ้นปีงบประมาณ 2563 จะสามารถออกหนังสือแสดงสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุได้ไม่ต่ำกว่า 40,000 ราย อย่างแน่นอน” อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุ
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ยังเตรียมจะปรับรูปแบบของหนังสือแสดงสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุใหม่ จากเดิมที่ออกเป็นสมุดเล่มเล็ก โดยเปลี่ยนมาเป็นเอกสารที่มีรูปร่างเหมือนเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน (โฉนดที่ดิน) ระบุที่ตั้ง ขนาดเนื้อที่ และตัวเลขสำคัญอื่นๆ (ดูภาพประกอบ) เพียงแต่ เปลี่ยนตราครุฑด้านบนเอกสารสิทธิ์ มาเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมธนารักษ์ (นกวายุภักษ์ พร้อมข้อความ “กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง”) ทั้งนี้ ได้เริ่มทะยอยออกหนังสือแสดงสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุแบบใหม่ไปบ้างแล้ว และจะไปใช้กับรายอื่นๆ ทั้งผู้เช่ารายเก่าและรายใหม่ต่อไป
“ผู้เช่าที่ราชพัสดุจะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองได้สิทธิ์ในการครอบครองที่ราชพัสดุ เสมือนครอบครองโฉนดที่ดิน แม้จะเป็นเพียงผู้เช่าฯ แต่ก็สามารถนำเอกสารดังกล่าวไปทำธุรกรรมต่างๆ ได้ โดยเฉพาะการนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้ ส่วนการเก็บรักษาก็ทำเหมือนการดูแลโฉนดที่ดิน โดยนำไปจัดเก็บในซองพลาสติกใส” นายยุทธนา กล่าวและว่า
ข้อดีของการเร่งรัดออกหนังสือแสดงสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุ คือ ลดปัญหาการบุกรุกและครอบครองที่ดินของประเทศโดยมิชอบ ทำให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในทุกระดับ สามารถสร้างรายได้จากการเช่าที่ดิน รวมถึงยังทำให้กรมภาษีและราชการส่วนท้องถิ่น จัดเก็บรายได้ภาษีจากใช้ประโยชน์ในที่ดินและจากการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาจากการที่ผู้ประกอบการไม่อยู่ในระบบภาษี เนื่องผู้เช่าทุกรายจะต้องมาขึ้นทะเบียนในฐานะผู้เช่าฯกับกรมธนารักษ์ เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถเข้าไปตรวจสอบในทุกธุรกรรมที่ได้ดำเนินการไว้อย่างต่อเนื่อง สร้างความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่นได้เป็นอย่างดี.