สัมผัสวัดเชียงทอง ที่หลวงพระบาง
หลวงพระบางเมืองแห่งมรดกโลกที่นักท่องเที่ยวหลายๆ คนประทับใจ
แต่ทว่า ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจและรอให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสอยู่นั้นก็คือ วัดเชียงทองแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั่นเอง
วัดเชียงทอง หรือ วัดเคียงน้ำ เป็นวัดแห่งเมืองหลวงพระบาง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้ ไม่เพียงมาจากทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้ริมแม่น้ำคาน อันไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่บริเวณด้านข้างนั้นเองก็ยังมีถนนโพธิสารราชตัดขนาบเคียงกับริมน้ำโขงคั่นอยู่ด้วย
อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว วัดเชียงทองแห่งนี้เป็นวัดที่ได้รับการยกย่องจากนักโบราณคดีว่า มีสถาปัตยกรรมอันสวยสดงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศลาว หรือเทียบเท่ากับเป็นอัญมณีแห่งเมืองลาวเลยก็ว่าได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าในวัดเชียงทอง มีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมที่วิจิตรบรรจงกลั่นจากความตั้งใจของคนลาวที่ต้องการแสดงออกถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา หากเอ่ยถึงวัดแห่งเมืองลาวแล้ว นักท่องเที่ยวที่ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนจะทราบดีว่าวัดเชียงทองเป็นวัดอันดับหนึ่งที่หลาย ๆ คนไม่ควรพลาดเลยทีเดียว
วัดแห่งกษัตริย์พระเจ้าไชยเชษราชาธิราช สำหรับความเป็นมาของวัดแห่งนี้เริ่นต้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2102 หลังจากสร้างวัดได้ไม่นานเท่าใดนัก พระองค์ก็ได้ย้ายเมืองหลวงไปสู่นครเวียงจันทน์ แต่ทว่า วัดเชียงทองแห่งนี้ยังคงได้รับการดูแลจากกษัตริย์สองพระองค์สุดท้ายของลาวเรื่อยมานั่นก็คือ เจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์และเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ทำให้วัดเชียงทองยังคงความงามและคุณค่าอยู่จนถึงปัจจุบัน
สิมตามแบบฉบับหลวงพระบาง สำหรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่งได้ไปเยือนเมืองหลวงพระบางเป็นครั้งแรก สิ่งที่ควรมองหามากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ พระอุโบสถแบบฉบับหลวงพระบางหรือที่ภาษาท้องถิ่นลาวจะเรียกว่า สิม แม้ว่าสิมของที่นี่จะมีขนาดไม่ใหญ่โตสักเท่าใดนัก แต่สถาปัตยกรรมของสิมหลวงพระบางกลับตรึงตานักท่องเที่ยวที่ได้เข้าชมเป็นอย่างยิ่ง โดยมีความสวยเด่นมากที่สุดขมาจากหลังคาของพระอุโบสถ ที่ไม่เพียงจะแอ่นและโค้งลดหลั่นซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ถึง 3 ชั้นเท่านั้น แต่ศิลปะจากความลดหลั่นนี้ยังเรียงเรื่อยไปจนถึงตัวฐาน ทำให้เมื่อมองจากภายนอกจะรู้สึกว่าสิมแห่งนี้มีขนาดไม่สูงนัก นอกจากนี้ ที่ส่วนกลางของหลังคายังมีเครื่องยอดสีทอง สร้างขึ้นเป็นรูปเขาพระสุเมรุและบริเวณทิวเขามีสัตบริภัณฑ์ล้อมรอบด้วยกันทั้งหมด 7 ชั้น เกิดเป็นความงดงามอ่อนช้อยจากงานปั้นที่สมจริง ที่สำคัญ ยังมีปลาอานนท์รองรับไว้ด้วย ซึ่งการปั้นในลักษณะนี้เปรียบได้กับการจำลองจักรวาลตามแบบคติธรรมทางพุทธศาสนา
อีกประการหนึ่ง อุโบสถที่แห่งนี้ยังมีช่อฟ้ามากถึง 17 ช่อ อันเป็นเครื่องหมายแสดงว่าคือ พระอุโบสถที่พระมหากษัติรย์สร้างขึ้น แต่หากเป็นวัดที่สามัญชนสร้างถวายจะมีช่อฟ้าเพียง 1-7 ช่อเท่านั้น ตามความเชื่อในสมัยก่อนที่บริเวณสี่เหลี่ยมเล็กกลางช่อฟ้าจะเป็นที่เก็บเครื่องทองหรือของมีค่า แต่ในปัจจุบันช่องสี่เหลี่ยมนั้นไม่มีสิ่งใดบรรจุไว้แล้ว
ซุ้มประตูอุโบสถสุดวิจิตร อลังการที่ควรค่าแก่การมาเยือน นอกจากจะได้ชื่นชมความงามของสิมแล้ว นักท่องเที่ยวยังจะได้ชื่นชมความงามของซุ้มประตูพระอุโบสถที่สุดแสนวิจิตรอลังการด้วยลวดลายแกะสลักแปลกตา ทั้งที่บริเวณหน้าต่างและผนังพระอุโบสถด้านใน ที่สำคัญ ผนังแห่งนี้ยังมีความโดดเด่นจากการปิดทองลงรักด้วยสีทองสลับดำพร้อม ๆ กับการเล่าขานถึงพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และภาพนิทานต่าง ๆ บนผนัง เมื่อเดินเข้าไปในส่วนลึกด้านในพระอุโบสถนั้นจะพบกับองค์พระประธานที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า พระองค์หลวง เป็นที่นับถือและศูนย์รวมจิตใจของชาวหลวงพระบางเช่นกัน
ภาพผนังอุโบสถทรงคุณค่า สิ่งที่นับเป็นมรดกอันทรงคุณค่าให้กับคนรุ่นหลังและสร้างชื่อเสียงให้กับวัดแห่งนี้ ก็คือภาพประดับกระจก ซึ่งทำเป็นรูปต้นทองและตั้งอยู่ ณ ผนังด้านหลังอุโบสถ ด้วยรูปแบบการตกแต่งที่ไม่เหมือนใคร จากการนำกระจกสีมาตัดและต่อกันเป็นรูปทรงของต้นทองขนาดใหญ่ แลดูคล้ายกับต้นโพธิ์ ยิ่งเมื่อนำมาตัดกันกับพื้นหลังอันเป็นฉากสีส้ม ก็ยิ่งสร้างความโดดเด่นให้กับต้นทองมากขึ้นกว่าเดิม สำหรับด้านข้างของภาพนั้น งดงามด้วยรูปของเหล่าสรรพสัตว์ในวรรณคดี หากนักท่องเที่ยวต้องการเข้าชมภาพผนังสุดแสนงดงามควรเลือกแวะมาที่วัดแห่งนี้ในช่วงเวลาบ่าย ๆ เพราะจะเป็นจังหวะที่แสงอาทิตย์ตกกระทบกับรูปวาดบนผนัง และก่อให้เกิดประกายสะท้อนวิจิตรงดงามยากลืมเลือน
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ปรารถนาจะชมความงดงามที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นบนพื้นฐานแห่งความศรัทธาพระพุทธศาสนา การเข้าชมวัดแห่งนี้นับเป็นโอกาสที่ควรคว้าไว้อย่างยิ่ง เพราะความงดงามอันทรงคุณค่าจะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกประทับใจในความงามแห่งสถาปัตยกรรมของเมืองลาวอย่างแน่นอน
ที่ตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว
เวลาเปิด–ปิด: 06.00 น. – 17.30 น.
ค่าเข้าชม 20.000 กีบต่อคน
การเดินทาง เดินทางได้โดยการโดยสารเครื่องบินจากกรุงเทพมหานครไปยังเชียงใหม่ จากนั้นโดยสารรถประจำทางจากเชียงใหม่ไปหลวงพระบาง ซึ้งสามารถขึ้นรถได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อสุดสายที่หลวงพระบางแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถรับจ้าง เพื่อไปยังวัดเชียงทองได้อย่างสะดวก