“ออมสิน”รุกธุรกิจจำนำทะเบียนรถความท้าทาย”วิทัย รัตนากร”
“วิทัย รัตนากร” ประกาศรุกธุรกิจสินเชื่อจำนำรถยนต์แข่งกับนอนแบงก์ หวังสร้างความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำให้ลูกค้าฐานราก พร้อมพัฒนาMyMo ให้ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ผ่านแอพ สนับสนุนบทบาทธนาคาร”Social Bank”
วิสัยทัศน์หลังการเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่ 17 ของ”วิทัย รัตนากร” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา “คุณวิทัย”ได้ประกาศปรับบทบาทของธนาคารมุ่งสู่การเป็น” Social Bank” หรือ ธนาคารเพื่อสังคม อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างผลเชิงบวกแก่สังคม “Making POSITIVE Impact on Society” ด้วยการดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) และองค์กรชุมชน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หลุดพ้นจากความยากจน ยกระดับรายได้ ต่อยอดเป็นผู้ประกอบการรายย่อย สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
โดยภารกิจแรกคือการนำธนาคารออมสินเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank อย่างเต็มตัว เริ่มจากการเปิดตัวธุรกิจรับจำนำทะเบียนรถ ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดในปัจจุบัน 8-10% จากปัจจุบันที่จัดเก็บในอัตรา 24-28% ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย/ผู้มีรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลเชิงบวกให้กับสังคมอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ และมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่ลูกค้ากลุ่มฐานรากใช้บริการ Non-Bank ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนี้
ส่วนรูปร่างหน้าตาของบริษัทจะเป็นอย่างไร กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาพิจารณา ทั้งการตั้งเป็นหน่วยงานในธนาคาร หรือการจัดตั้งเป็นบริษัทลูกของธนาคาร
ในเชิงลึกแล้วการทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถของธนาคารออมสินไม่ได้นับว่าเป็นเรื่องยากเกินไป ด้วยศักยภาพของ”อิสระ วงศ์รุ่ง” รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินในปัจจุบัน ที่มีความคุ้นเคยกับวงการรถยนต์ เพราะเคยเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำ กัด และเคยดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหารฝ่ายขายและการตลาด บจก.เมอร์เซเดส-เบนซ์ ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)
ภารกิจที่สำคัญที่”วิทัย”ให้ความสำคัญและจะเร่งพัฒนาคือ Digital Banking เพราะจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ Social Bank ให้ประสบความสำเร็จ โดยจะถูกปรับบทบาทให้เข้ามาช่วยสนับสนุนงานของสาขา และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องปรับตัวสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ธนาคารฯ จึงเตรียมพัฒนาบริการลักษณะเฉพาะ หรือ Feature ใหม่ ๆ บนแอปพลิเคชัน MyMo เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปสาขาแต่สามารถใช้บริการบนโทรศัพท์มือถือได้ อาทิ บริการปรับโครงสร้างหนี้ การให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending ตลอดจนบริการเปิดบัญชีเงินฝาก (e-KYC) อีกด้วย ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ไปเช่นกัน
นอกจากนี้ ธนาคารฯ จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย ที่มุ่งเป้าช่วยเหลือประชาชนในการสร้างธุรกิจ โดยรวบรวมองค์ความรู้ในทุกด้านที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพและการทำธุรกิจ อาทิ กลุ่ม Street Food, กลุ่ม Homestay เป็นต้น เริ่มจากการให้ข้อมูลเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม การคัดเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การวางกลยุทธ์การตลาด และสร้างช่องทางการขาย/การหาลูกค้า ไปจนถึงการให้สินเชื่อ และการร่วมทุน โดยธนาคารออมสินจะเป็นหน่วยงานรัฐแห่งแรกที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืน
“ธนาคารออมสินหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับบทบาทของธนาคารออมสินมุ่งสู่ Social Bank จะเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้การใช้ชีวิตวิถีใหม่มีต้นทุนที่ลดลง ช่วยบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนและลูกค้าของธนาคารฯ “ นั่นคือความมุ่งมั่นของผู้อำนวยการธนาคารออมสิน” วิทัย รัตนากร