ธุรกิจส่งออกรับมืออย่างไร เมื่อการค้าโลกยุคใหม่ไม่ได้มีแค่ภาษี?
แม้ว่าภาษีศุลกากรจะเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ผู้ส่งออกคุ้นเคยมาเป็นเวลานาน แต่สิ่งที่กลายเป็นปัญหาหลักในการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ คือ มาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff measures: NTMs) เพราะทำให้ธุรกิจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น
ใช้เวลาดำเนินการนานขึ้น และสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดสูงกว่าภาษีถึง 2 เท่า นอกจากนี้ การปฏิบัติตามเงื่อนไข NTMs ยังไม่ได้เป็นการรับประกันว่าธุรกิจจะสามารถทำกำไรและเจาะตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ อีไอซีจึงแนะเคล็ดลับให้ผู้ประกอบการปรับตัวมุ่งสู่การผลิตด้วยมาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า รวมไปถึงประเมินความสามารถของตนเองในการทำตามเงื่อนไขต่างๆ และเลือกส่งออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของแต่ละตลาด
สิ่งที่ผู้ประกอบการในตลาดการค้าระหว่างประเทศกำลังเผชิญและยิ่งทวีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ คือ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ NTMs (non–tariff measures) ในอดีตอุปสรรคหลักของผู้ประกอบการที่ค้าขายกับต่างประเทศคือ ภาษีศุลกากร เนื่องจากทำให้ต้นทุนของสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และลดความสามารถในการทำกำไร อีกทั้งยังอาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในตลาดเป้าหมายหรือจากประเทศอื่นๆ ได้ แต่ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้พยายามจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free-trade Area Agreements: FTAs) ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อลดหย่อนภาษีนำเข้าระหว่างกัน หรือกำจัดให้เหลือ 0% อย่างไรก็ดี องค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) เปิดเผยว่าสิ่งที่กลายมาเป็นอุปสรรคหลักในตลาดการค้าโลกยุคใหม่กลับเป็นมาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) เพราะถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ และสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดมากกว่ามาตรการทางภาษีถึง 2 เท่า โดยประเทศที่มีระดับรายได้สูงและปานกลางมักนำ NTMs มาใช้มากกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำ (รูปที่ 1)
มาตรการทางเทคนิค เป็น NTMs ที่พบบ่อยที่สุด และสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ สินค้าเกษตรและอาหาร แม้ว่า NTMs จะมีอยู่หลายประเภท เช่น การจำกัดปริมาณ การควบคุมราคา และเงื่อนไขการชำระราคาสินค้าแต่มาตรการทางเทคนิคซึ่งรวมถึงมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชเป็น NTMs ที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด (รูปที่ 2) เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชากรจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าสินค้าเกษตรและอาหารจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าประเภทอื่น ยกตัวอย่างเช่น เนื้อวัวแช่เย็นของออสเตรเลียถูกจีนระงับการนำเข้าเป็นเวลา 9 เดือนระหว่างปี 2013-2014 เพราะไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ในขณะที่ข้าวไทยก็ถูกหลายประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ตรวจหาสิ่งปนเปื้อนจำพวกเชื้อรา มอด และข้าวเปลือก รวมไปถึงผักและผลไม้สดของไทยหลายชนิด เช่น ลำไย มะม่วง มะละกอและกะเพรา ยังถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดหรือห้ามนำเข้าโดยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันโรคพืช ศัตรูพืช และสารพิษตกค้างที่อาจติดมากับผลิตผลดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าอีกหลายประเภทที่ได้รับผลกระทบจาก NTMs ประเภทอื่นๆ เช่น อินโดนีเซียที่ใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าผ้าบาติก โดยผู้นำเข้าจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซีย และสามารถนำเข้าจากท่าเรือและท่าอากาศยานเพียง 4 แห่งเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะการลดภาษีศุลกากรภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน และ อาเซียน-จีน ทำให้ผ้าบาติกที่นำเข้าจากจีนและมาเลเซียมีราคาถูกกว่าผ้าบาติกที่ผลิตในประเทศ ผู้ประกอบการของอินโดนีเซียซึ่งมีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงถูกแย่งตลาดเพราะไม่สามารถแข่งขันราคาได้ ในขณะที่สินค้าไทยก็ได้รับผลกระทบจาก NTMs เช่นเดียวกัน อาทิ การส่งออกโทรทัศน์ไปอินเดียภายใต้กรอบการค้าเสรีไทย-อินเดียซึ่งติดเงื่อนไขแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROO) ในสัดส่วน 40% ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยบางรายไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ เพราะในระยะหลังมีการใช้ส่วนประกอบจากประเทศเพื่อนบ้านในอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี เงื่อนไข ROO ได้ถูกผ่อนปรนลงหลังจากที่มีความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ทำให้ไทยสามารถใช้วัตถุดิบภายในประเทศและวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศภาคีรวมกันในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 35% ผู้ประกอบการจึงมีความยืดหยุ่นในการจัดหาชิ้นส่วนมากขึ้น
ผู้ประกอบการในธุรกิจส่งออกได้รับผลกระทบจาก NTMs ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการกระจายสินค้า อีกทั้งยังไม่สามารถคาดการณ์การใช้มาตรการได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สินค้าเกษตร เพราะต้องควบคุมดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกเพื่อให้ปลอดจากศัตรูพืช โรคพืช และสารเคมีต้องห้าม จนไปถึงขั้นตอนการทำความสะอาดผลิตผลก่อนบรรจุลงหีบห่อและตรวจสอบคุณภาพก่อนขนย้าย ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นและใช้เวลาดำเนินการมากกว่าปกติ ยิ่งไปกว่านั้น บางประเทศยังจำกัดจำนวนท่าเรือที่สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรได้ เช่น อินโดนีเซียที่อนุญาตให้ไทยส่งผักและผลไม้สดผ่าน 4 ท่าเรือเท่านั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ห่างจากกรุงจาการ์ตานับพันกิโลเมตร ทำให้ผลผลิตของไทยใช้เวลาขนส่งนานกว่าจะไปถึงมือผู้บริโภคและอาจส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าได้ นอกจากนี้ ในบางเวลาอาจมีการระงับการนำเข้าชั่วคราวหากสุ่มตรวจเจอสินค้าที่มีปัญหา หรือพบการนำเข้าในปริมาณที่มากเกินไปจนกระทบผู้ผลิตในประเทศ เช่น กรณีของอินโดนีเซียที่ระงับการนำเข้าพืช ผัก และผลไม้ 13 ชนิดจากไทยเป็นเวลา 6 เดือนในปี 2013 เนื่องจากเป็นช่วงที่อินโดนีเซียมีผลผลิตออกมามาก ทำให้ชาวสวนและผู้ส่งออกผลผลิตดังกล่าวของไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการอาศัยการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานของแต่ละประเทศ แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุน เวลา การเข้าถึงข้อมูล นอกจากปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติตามเงื่อนไข NTMs แล้ว ผู้ประกอบการยังต้องรับมือกับความยุ่งยากในกระบวนการผลิตด้วย เช่น ผู้ส่งออกกุ้งที่ต้องควบคุมโรคกุ้งและการใช้ยาปฏิชีวนะให้สมดุลกัน รวมไปถึงต้มกุ้งให้สุกด้วยอุณหภูมิและระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเงื่อนไขของแต่ละประเทศมักแตกต่างกัน ทำให้ต้องวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญกับความท้าทายด้านเวลา เพราะกว่าที่สินค้าจะถูกนำเข้าไปยังตลาดเป้าหมายได้ต้องผ่านกระบวนการมากมาย อาทิ การขออนุญาตนำเข้า การพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า และการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งบางประเทศมีตัวแทนดำเนินการเพียงแห่งเดียวจึงยิ่งใช้เวลานานกว่าปกติ ทำให้ต้องเผื่อเวลาล่วงหน้าและปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สามารถถนอมสินค้าได้ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ดี การเข้าถึงข้อมูล NTMs ของแต่ละประเทศเป็นเรื่องที่ท้าทายเพราะมีรายละเอียดมากมายและอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น ข้าวไทยที่ส่งออกไปจีนต้องทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ เพราะขนาดตัวอักษรบนฉลากไม่ตรงตามเงื่อนไขใหม่ที่จีนกำหนด ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้น ใช้เวลาดำเนินการนานขึ้น และอาจส่งผลถึงคุณภาพของข้าวที่บรรจุไปก่อนหน้านี้ด้วย
แม้ว่าหลายประเทศจะมีแนวทางร่วมกันเพื่อลด NTMs แต่การรักษาเสถียรภาพของตลาดภายในประเทศยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มเห็นพ้องกันว่า NTMs เป็นอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อราคาและปริมาณของสินค้า อีกทั้งยังก่อให้เกิดการเสียโอกาสในกรณีที่เกิดความล่าช้าหรือไม่สามารถค้าขายสินค้าบางชนิดได้ นอกจากนี้ NTMs บางมาตรการ เช่น ROO ยังลดทอนประสิทธิภาพการผลิตเพราะได้กำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่ระบุไว้เท่านั้น ส่งผลให้ NTMs ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นเจรจาในเวทีการค้าระหว่างประเทศ เช่น อาเซียนที่สร้างกรอบความตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน และร่วมกันเจรจา FTAs กับประเทศอื่นๆ เพื่อลดข้อจำกัดเรื่อง ROO ทำให้สามารถใช้วัตถุดิบร่วมกันภายในภูมิภาคได้ อย่างไรก็ดี หลายประเทศมีความจำเป็นต้องปกป้องผู้ผลิตและผู้บริโภคภายในประเทศ ทำให้ NTMs หลายมาตรการอาจถูกกำจัดได้ไม่ง่ายนัก เช่น การกำหนดรายการสินค้าอ่อนไหวเพื่อควบคุมปริมาณการนำเข้าหรือยืดระยะเวลาในการลดหย่อนภาษี รวมไปถึงการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการกระจายของสารพิษและโรคระบาดจากนอกประเทศ
นอกจากนี้ NTMs ยังขยายขอบเขตไปยังประเด็นใหม่ๆ ผู้ประกอบการจึงควรติดตามการเปลี่ยนแปลงและเตรียมกลยุทธ์รับมือไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ในระยะหลังพบว่าหลายประเทศได้นำเอามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้กันมากขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ออกกฎระเบียบควบคุมระดับมลพิษและลดภาวะโลกร้อน เช่น ระเบียบสําหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับปริมาตรและน้ำหนักของสินค้า การใช้วัตถุดิบที่มาจากกระบวนการรีไซเคิล และการใช้ไฟฟ้าหรือทรัพยากรอื่นๆ ตลอดอายุของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังมีมาตรการฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น Eco Label และ Carbon Label เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการจัดการชิ้นส่วนที่เหลือหลังการใช้งาน โดยอีไอซีคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สังเกตได้จากความพยายามในการบรรลุข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อหาวิธีต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมไปถึง FTAs ฉบับใหม่ๆ ที่ยกเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการเจรจา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรจับตาสถานการณ์และเตรียมปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้สามารถรับมือกับ NTMs ยุคใหม่ซึ่งนอกจากจะมีความเข้มงวดมากขึ้นแล้ว ยังมีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนและครอบคลุมประเด็นที่กว้างขึ้นด้วย