ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกทะลุ 6 ล้านคน
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. จำนวนผู้ติดเชื้อโรคระบาดโควิด -19 ทั่วโลกสูงถึง 6 ล้านรายแล้ว โดยบราซิลเป็นประเทศที่ทำสถิติมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด
ประเทศในอเมริกาใต้ต้องประสบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ เนื่องจากไวรัสระบาดอย่างรวดเร็วทั่วภูมิภาค แม้ประเทศส่วนใหญ่จะคลายล็อกดาวน์ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักมานานและทำให้หลายล้านคนต้องตกงาน
ในบราซิล ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดในอเมริกาใต้ด้วยจำนวนผู้ป่วยสะสมสูงเกือบ 500,000 ราย เป็นรองแค่เพียงสหรัฐฯเท่านั้น ขณะที่มีความไม่พอใจในมาตรการล็อกดาวน์ของบรรดาผู้บริหารเมืองที่พยายามชะลอการระบาดของไวรัส เนื่องจากบราซิลมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 30,000 ราย
โดยประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ซึ่งกลัวว่าเศรษฐกิจจะทรุดจากมาตรการให้ประชาชนอยู่บ้านมากกว่าผลกระทบจากไวรัส ได้พยายามโจมตีผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรีที่ใช้มาตรการปิดเมือง
ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่พุ่งทะลุ 368,000 ราย ขณะที่การตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯในการตัดงบสนับสนุนองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นการถาวรถูกวิจารณ์จากนานาประเทศ
โดยในตอนแรก ทรัมป์ระงับการจ่ายเงินให้ WHO ในเดือนเม.ย. โดยกล่าวหาว่า WHO ไม่มีมาตรการเพียงพอในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสและมีความลำเอียงเข้าข้างจีน ซึ่งไวรัสอุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกในปีที่แล้ว
แต่ในวันที่ 29 พ.ค. ทรัมป์ตัดสินใจที่จะตัดงบสนับสนุน WHO อย่างถาวร ที่ผ่านมา สหรัฐฯเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุด โดยจ่ายเงินให้ WHO จำนวน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 12,776 ล้านบาท ) ในปีที่แล้ว
การตัดสินใจของทรัมป์ทำให้นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนีปฏิเสธที่จะไปร่วมประชุมสุดยอดประเทศเศรษฐกิจ G-7 ซึ่งทรัมป์ชี้ว่าเขาจะเป็นเจ้าภาพในการประชุม
โดยนิวยอร์ก ซิตี ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสมากที่สุดในสหรัฐฯ ด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิตประมาณ 21,500 ราย จะเริ่มเปิดเมืองในวันที่ 8 มิ.ย.
จนถึงตอนนี้ ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ สูงถึง 103,000 ราย และมีผู้ป่วยสะสมกว่า 1.7 ล้านราย
เศรษฐกิจที่เสียหายจากมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ โดยชิลีและเปรูขอเงินกู้หลายพันล้านจาก IMF เศรษฐกิจของอินเดียชะลอตัวที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษในไตรมาสแรก ขณะที่แคนาดา บราซิล ฝรั่งเศส และอิตาลี เห็นตัวเลขจีดีพีที่หดตัวและคาดว่าทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เนื่องจากไวรัสส่งผลกระทบกับกลุ่มประเทศยากจนอย่างรุนแรง ทำให้องค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเรียกร้องถึง “สังคมที่ยุติธรรมและมีความเท่าเทียมกันมากกว่านี้ ” หลังเกิดโรคระบาด และทรงขอให้ผู้คนพยายาม “ยุติการระบาดของความยากจน”