ครม.อนุมัติ กฟภ.ลงทุนเฟส 2 กว่า 7.7 หมื่นลบ.
ครม. มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวม 77,334 ล้านบาท ลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวม 77,334 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศจำนวน 57,999 ล้านบาท และเงินรายได้จำนวน 19,335 ล้านบาท โดยเห็นชอบให้ กฟภ.ทยอยกู้เงินในประเทศภายในกรอบวงเงิน 57,999 ล้านบาทเพื่อเป็นเงินลงทุนในโครงการดังกล่าวตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ
โครงการฯ จะเป็นการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าระบบสายส่ง 115 เควี ระบบจำหน่ายแรงสูง 22/33 เควีและระบบจำหน่ายแรงต่ำในพื้นที่ของ กฟภ.จำนวน 12 เขตทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ 3 การไฟฟ้าเขต (เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 การไฟฟ้าเขต (อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา) ภาคกลาง 3 การไฟฟ้าเขต (พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี นครปฐม) ภาคใต้ 3 การไฟฟ้าเขต (เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ยะลา) ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (พ.ศ.2563-2568)
สามารถรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจาก 21,354 เมกะวัตต์ในปี 2561 เป็น 26,466 เมกะวัตต์ในปี 2568 (อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี 3%) คาดว่าจะมีผู้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 19.52 ล้านรายในปี 2561 เป็น 23.09 ล้านรายในปี 2568 (อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี 2.43%) โดยจะเป็นการพัฒนาระบบไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าแห่งใหม่ ทันสมัย สอดคล้องตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ลดปัญหาในการปฎิบัติการและการบำรุงรักษา และหน่วยสูญเสียในระบบไฟฟ้า
รวมทั้งโครงการฯ ยังช่วยเชื่อมโยงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ธุรกิจอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่สำคัญให้มีขีดความสามารถของระบบไฟฟ้าที่สูงขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการกระจายกิจการอุตสาหกรรมไปสู่ส่วนภูมิภาค
ทั้งนี้ กฟภ.รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยว่า การก่อสร้างสถานีไฟฟ้าเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ กฟภ. ไม่มีการดำเนินงานที่ขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับหรือข้อห้ามทางกฎหมาย รวมทั้ง กฟภ.จะมีระบบติดตาม เฝ้าระวัง การดำเนินงานเพื่อไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมหรือพื้นที่ข้างเคียง