ไตรมาสแรกบริษัทใหญ่รุกเทคโอเวอร์
จากการรวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ พบว่าในช่วงไตรมาสแรของปี 2559 บริษัทขนาดใหญ่หลายรายทยอยซื้อกิจการ เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจอย่างคึกคัก ทั้งนี้หากพิจารณาตัวเลขมูลค่าการลงทุนรวมกันเกินกว่าระดับ 1 แสนล้านบาท
เริ่มต้นจาก บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) BJC ซึ่งเป็นของ ”เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) หรือเบียร์ช้างส่งบริษัทเบอร์ลี่ เข้าไปซื้อหุ้นต่อจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิมของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) BIGC จนกลางเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ซึ่งมูลค่ารายการลงทุนครั้งนี้สูงถึง 1.22 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) TU ประกาศเข้าซื้อหุ้นของบริษัท รูเก้นฟิช เอจี ในประเทศเยอรมนี จำนวน 51% มูลค่า 1,664 ล้านบาท
ต่อมา “อาลก โลเฮีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ได้ดำเนินการการเข้าซื้อกิจการ บริษัท BP Amoco Chemical Company หรือ BP ที่เมืองดีเคเตอร์ รัฐอลาบามา โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยพาราไซลีน (PX) และ PTA กำลังการผลิต 1,020,000 ตัน และเคมีภัณฑ์ NDC (naphatalene dicarboxylate)
เขาบอกว่า การเข้าซื้อครั้งนี้ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งในด้านการบริหารจัดการวัตถุดิบตั้งต้นให้มีใช้อย่างพอเพียง ความได้เปรียบด้านขนาดการผลิต และการเข้าซื้อสินทรัพย์ของบริษัท BP นี้มีการประกาศเป็นดีลแรกในปี 2559 และคาดว่าจะมีการประกาศเสร็จสิ้นการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 2
ด้าน “ศิวะ มหาสันทนะ” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC กล่าวว่า บริษัทได้ซื้อกิจการ 100% ในเซเม็กซ์ ประเทศไทย – เซเม็กซ์ ซีเมนต์ บังกลาเทศ รองรับการเติบโตในอนาคต โดยบริษัทเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น ในการลงทุนโดยตรงในหุ้นทั้งหมดของบริษัท เซเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เซเม็กซ์ ซีเมนต์ (บังกลาเทศ) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ ประกอบธุรกิจปูนซีเมนต์ใน ประเทศไทย และบังกลาเทศ ตามลำดับ
คิดเป็นมูลค่าการลงทุน ทั้งสิ้น 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,893 ล้านบาท เพื่อสร้างแลดำเนินกิจการโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ มีกำลังผลิตรวม 844,800 ตันต่อปี และ 520,000 ตันต่อปี ตามลำดับ
“การเข้าซื้อหุ้นในกิจการเป้าหมายครั้งนี้บริษัทคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนพ.ค. 2559 ทั้งนี้เป็นไปตามแผนการลงทุนในสินทรัพย์อุตสาหกรรม และการแสวงหาโอกาสในการดำเนิ ธุรกิจ”
”ชัยวัฒน์ ศรีวรรณวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO รายงานตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทเข้าซื้อกิจการในธุรกิจยางมะตอย 2 บริษัท คือ Colas Vietnam หรือCVN และบริษัท เรย์โคล แอสฟัลท์ จำกัด หรือ Raycol บริษัทจะเข้าซื้อเงินลงทุน 100% ใน CVN จากColas SA หรือใช้เงินประมาณ 35.36 ล้านบาท
ด้าน บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI เข้าซื้อหุ้น บริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) MACO เพิ่มอีก 12.46% มูลค่า 412.50 ล้านบาท ทำให้ถือหุ้นรวม 37.42% และจะต้องทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีก 800-1,000 ล้านบาท บนสมมติฐานที่ว่าบริษัทเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 50-55%
ขณะเดียวกันในธุรกิจพลังงานทดแทน พบว่า บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) BCPG ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) BCP ได้ลงนามในสัญญาเพื่อเข้าซื้อธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดของกลุ่ม Sun Edison วงเงินไม่เกิน 9,626 ล้านเยน หรือประมาณ 2,915 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีบริษัทรายใหญ่ที่อยู่ระหว่างการเตรียมแผนการซื้อกิจการอีกหลายแห่ง เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ประกอบด้วย
“เทวินทร์ วงศ์วานิช”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) PTT ในฐานะกรรมการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) PTTEP กล่าวในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 ว่า บริษัทหวังว่าจะสามารถนำเงินสดที่มีอยู่ในมือราว 3,260 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในการลงทุนซื้อกิจการเข้ามาหนุนการเติบโตในอนาคต ซึ่งบริษัทมีการเจรจามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถบรรลุการเจรจาได้
“เดิมทีบริษัทคาดว่าจะมีบริษัทขายกิจการออกมาตั้งแต่ปีก่อนที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การขายกิจการช่วงที่ผ่านมา กลับน้อยกว่าช่วงที่น้ำมันราคาสูง “
“เย็บ ซู ซวน” ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างขยายกิจการเพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ยังเติบโตได้ดี ซึ่งจะเป็นการลงทุนทุกรูปแบบที่บริษัทเห็นว่ามีผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัท หลังจากที่มีการขยายธุรกิจที่จีนแล้ว โดยมีไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งหากมีการลงทุนบริษัทสามารถใช้กระแสเงินสดของบริษัท และ เงินกู้จากธนาคาร โดยปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 0.5 เท่า
“เชื่อว่าปีนี้ผลประกอบการจะดีกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการรถยนต์เริ่มฟื้นกลับขึ้นมาทำให้มั่นใจว่าแผนธุรกิจที่วางไว้ 5 ปี หรือ ในปี2563 รายได้จะแตะ 5 หมื่นล้านบาทและบริษัทยังต้องการเป็นผู้นำผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียจึงทำให้บริษัทต้องขยายธุรกิจไปต่างประเทศ”
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของ ผู้บริหาร บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้ความเห็นว่า กระแสการควบรวมกิจการ หรือการซื้อกิจการคึกคัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้บริษัทต่างๆต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นจึงเห็นสัญญาณการซื้อกิจการเพื่อต่อยอดธุรกิจกันอย่างคึกคัก
การซื้อกิจการถือเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามปรับตัวจากภาวะโอเวอร์ซัพพลายไปสู่สมดุล เพราะสิ่งนี้ จะช่วยให้ผู้เล่นในแต่ละอุตสาหกรรมมีจำนวนที่ลดน้อยลงไป เมื่อผู้เล่นน้อยลงไปอุปทานก็จะลดลงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวโน้มของการซื้อกิจการในอนาคตก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น
“กระแสเงินสดของบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งมีอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้หลายๆ บริษัทมองหาการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าประเทศไทยจะกลับไปสู่ยุคของการควบรวมกิจการ อย่างชัดเจนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า”
ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันภาพของการลงทุนเปิดกว้างมากขึ้น อย่างที่เห็นได้จากการที่แต่ละประเทศมีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น หรืออย่างกรณีของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโดยภาพรวมก็ชะลอตัวลง ทำให้เริ่มเห็นบริษัทขนาดเล็กบางแห่งขาดสภาพคล่องและประสบปัญหา ซึ่งก็เป็นโอกาสของบริษัทที่มีความพร้อมด้านการเงินซึ่งมองหาโอกาสในการลงทุนต่อเนื่องเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขัน
รวมถึงภาวะดอกเบี้ยต่ำก็เป็นปัจจัยหนุนให้เกิดการซื้อกิจการมากขึ้น เพราะนักลงทุนหรือบริษัทที่มีสภาพคล่องเหลือก็พยายามจัดสรรเงินทุนไปยังแหล่งที่ให้ผลตอบแทนดี ซึ่งการซื้อกิจการก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างการเติบโตและกระจายการลงทุนในระยะยาวได้
ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยถือได้ว่ามีกระแสเงินสดเหลือค่อนข้างมาก อย่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์เองซึ่งจะเห็นว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์ ที่แข็งแกร่ง เพียงแต่เวลานี้อาจต้องรอให้เศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนเองก็เริ่มคง แต่เป็นเพราะการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพียังดูสูงอยู่
“ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นการควบรวมกิจการมากขึ้น ทั้งบริษัทต่างชาติเข้ามา และบริษัทไทยออกไปลงทุนซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังนี้ก็อาจจะได้เห็นภาพของการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น เพราะรัฐบาลก็กำลังดำเนินการที่จะแก้ไขกฎเกณฑ์”